ENERGY

พลังงาน เล็งหนุนชีวมวลอัดเม็ดใช้แทน LPG ในโรงงาน
POSTED ON 05/02/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับทราบจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างจัดทำต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้ากีฬาแห่งหนึ่งในเขตภาคกลาง ที่กำลังศึกษาการเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำที่เดิมใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ให้ปรับมาใช้หัวเผาที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellets) แทน ซึ่งเบื้องต้นหากผลการศึกษาโรงงานต้นแบบแห่งนี้ที่ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวมวลอัดเม็ดได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีแล้ว จะมีการขยายผลให้มีปรับเปลี่ยนหัวเผาเพิ่มในโรงงานอื่นๆ โดย พพ. อาจจะเข้าไปร่วมสนับสนุนการปรับเปลี่ยนหัวเผา wood pellets นี้ และคาดว่าจะมีแพ็คเกจสนับสนุนการลงทุนแบบ 30 : 70 (รัฐร่วม 30%) หรือลงทุนแบบ 50 : 50 (รัฐร่วม 50%) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม

 

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellets) ดังกล่าว อยู่แล้ว แต่ผู้ผลิตหันไปทำตลาดส่งออกเกือบทั้งหมด เนื่องจากปริมาณการใช้ในประเทศยังไม่นิยม โดย wood pellets ผลิตจากวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศไทย เช่น เปลือกไม้ยูคา ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด หญ้าเนเปียร์และหญ้ารากแก้ว เป็นต้น

 

คุณสมบัติเบื้องต้นจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8-10 มิลลิเมตร และยาว 20-50 มิลลิเมตร มีค่าความร้อน (Heat value) สูงประมาณ 4,000-4,500 kcal/kg มีค่าความชื้นต่ำ (Moister content) 8-15% มีขี้เถ้าน้อยเพียง 3-5% ที่สำคัญจะมีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ จึงทำให้การเผาเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดนี้สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างดี

 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีราคาน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ เช่น ก๊าซ LPG หรือ น้ำมันเตา โดยเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด 2-3 กิโลกรัม ให้ค่าความร้อนเท่ากับน้ำมันเตาปริมาณ 1 ลิตร เป็นต้น

 

“กระทรวงพลังงาน เชื่อว่า เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดหรือ wood pellets นี้ จะเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงที่เป็นที่นิยมอีกทางหนึ่งในอนาคต ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมได้ลดต้นทุนพลังงาน แม้ในช่วงแรกอาจต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บ้าง แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะจะทำให้เกิดการผลิตเชื้อเพลิงสะอาด และเป็นพลังงานที่ได้จากผืนดินไทยเอง ช่วยลดการเพิ่มมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้จากภาค การเกษตร และที่สำคัญสามารถลดความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ายังมีโอกาสที่ราคาผันผวนได้ในอนาคต” นายทวารัฐกล่าว