ENERGY

สภาอุตฯ หนุนเปิดสัมปทานรอบ 21
POSTED ON 21/01/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้แจงต่อกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานโดยความเห็นชอบของ ครม.ได้ดำเนินการเปิดประมูลสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียม รอบที่ 21 แต่มีข้อโต้แย้งจากสังคมบางส่วนในเรื่องของเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนก็ดี หรือระบบวิธีการให้แรงจูงใจผู้เข้าประมูลก็ดี ทางนายกรัฐมนตรีจึงได้ยกเป็นประเด็นหารือเพื่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็น

 

ต่อมาคณะกรรมาธิการปฏิรูปการพลังงานได้จัดทำรายงานความเห็น โดยคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับการเดินหน้าประมูลสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน แต่ให้เร่งศึกษาระบบแบ่งปันผลผลิตเพื่อใช้เป็นทางเลือกในอนาคต แต่มีกรรมาธิการเสียงส่วนน้อยไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ หลังจากได้มีการอภิปรายกันในสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ก็ได้มีมติไม่เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการพลังงานดังปรากฏเป็นข่าวนั้น

 

ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด เนื่องจากเห็นว่ามีความสำคัญต่อการคงอยู่และการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย จึงขอแสดงความเห็นต่อสาธารณชนไว้ดังต่อไปนี้...

 

1. อุตสาหกรรมถือว่าพลังงานเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมทุกขนาดจำเป็นต้องใช้พลังงานในการผลิต คุณภาพและความมั่นคงของพลังงานนอกจากจะส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้าแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงต้นทุนการผลิตที่มีความสำคัญ ยิ่งในยุคแห่งการแข่งขันในเวทีโลกเช่นปัจจุบัน ความมั่นคงของพลังงานยังเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หากปราศจากความมั่นคงของพลังงาน การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมย่อมเสื่อมถอยตามไปด้วย

 

2. หลักฐานบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการสำรวจแหล่งพลังงานใหม่

 

2.1. ประเทศไทยมีการขุดเจาะ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลากว่า 40 ปี มีการเปิดสัมปทานไปแล้ว 20 รอบ โดยเฉลี่ย 2 ปีต่อหนึ่งรอบ แต่สัมปทานรอบ 21 นี้ห่างจากสัมปทานรอบที่ 20 กว่า 6 ปี และในรอบที่ 20 เองก็ขุดพบปิโตรเลียมน้อยมาก ไม่คุ้มการลงทุนผลิตในเชิงพาณิชย์ จึงถือได้ว่าสัมปทานรอบที่ 21 นี้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นไปมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาการผลิตได้ไม่ทันต่อการใช้งาน

 

2.2. มีข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้บริษัทที่ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจำเป็นต้องเจาะหลุมเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ปริมาณเท่าเดิมถึงปีละ 300-400 หลุม จากเดิมที่เคยเจาะเพียง 100-200 หลุมต่อปี ชี้ให้เป็นว่าการไหลของก๊าซธรรมชาติในแหล่งที่มีอยู่ช้าลงมาก เป็นการยืนยันการคาดการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติว่าจะเริ่มลดน้อยลงในเร็ววันนี้

 

2.3. ระยะเวลาในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมนั้นยาวนานมาก ตั้งแต่เริ่มการขุดเจาะสำรวจจนถึงวันแรกที่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์อาจใช้เวลาถึงสิบปี ดังนั้น การชะลอการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ออกไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า

 

3. ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตยังมีการใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่จะทำให้ชี้ชัดได้ว่า ระบบใดเหมาะสมกับประเทศใด หรือแหล่งปิโตรเลียมประเภทใดเป็นการเฉพาะ ทั้ง 2 ระบบสามารถดัดแปลง ออกแบบ ปรับปรุงให้มีเงื่อนไขที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อทั้งฝ่ายเจ้าของทรัพยากรและฝ่ายผู้ลงทุน แต่ที่เป็นความชัดเจนคือ หากใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ภาครัฐต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการตัดสินใจในการผลิตอย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องมีองค์กรและบุคลากรที่เหมาะสม และมีความสุจริตเป็นพื้นฐาน ซึ่งหากทำได้จริงอาจจะเป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว แต่ในระยะสั้นรัฐอาจจะยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

 

ขณะเดียวกัน ระบบสัมปทานที่ผ่านมาก็มีจุดอ่อนในด้านข้อมูล ความโปร่งใส และการกำกับควบคุมของภาครัฐที่ไม่ใกล้ชิดเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่ความเคลือบแคลงว่ามีการเบียดบังผลประโยชน์ของรัฐ แต่ในเงื่อนไข Thailand (III) Plus ตามที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศนั้น ก็ได้มีการปรับปรุงทั้งด้านผลประโยชน์ทั้งต่อรัฐและต่อผู้ลงทุนให้มีความยืดหยุ่น เป็นธรรมมากขึ้น และมีการตรวจสอบและสอบทานข้อมูลจากหน่วยงานกลางเพื่อให้มีความมั่นใจและน่าเชื่อถือมากขึ้นแล้ว ภาครัฐเองก็มีความพร้อมทั้งด้านกฎระเบียบ และบุคลากรเพื่อดำเนินการได้ทันที

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงขอสนับสนุนให้รัฐเร่งดำเนินการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต่อไป โดยเน้นเรื่องข้อมูลและความโปร่งใสตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันก็ขอให้มีการศึกษาระบบอื่นๆ รวมทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อเป็นทางเลือกในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับการเจาะสำรวจพื้นที่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในอนาคตอันใกล้

 

แต่หากภาครัฐตัดสินใจใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในรอบที่ 21 นี้ ก็ต้องรีบเร่งให้เกิดความพร้อมโดยเร็ว มิฉะนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของพลังงานได้ดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม รัฐต้องดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการขุดเจาะสำรวจและผลิต ซึ่งอาจรวมถึงการให้ประโยชน์ต่อชุมชนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ให้เกิดการยอมรับในพื้นที่นั้นๆ อย่างยั่งยืน