ENERGY

อดีตผู้ว่า กฟภ. แนะใช้ระบบ "ไทยแลนด์(ทรี)พลัส" กับสัมปทานรอบ 21
POSTED ON 20/01/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2558 ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 4/2557 ได้พิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากเป็นผู้เสนอ โดยได้ดำเนินการประชุมและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดย "นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์" ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน แถลงผลการศึกษาว่า ผลการพิจารณาสรุปเป็น 3 แนวทาง คือ...

 

1. ให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทาน ไทยแลนด์ทรี พลัส ตามแผนงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

2. ยกเลิกการใช้ระบบสัมปทาน ในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และนำระบบแบ่งปันผลผลิต

 

3. ให้ดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรี พลัส และให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการศึกษาและเตรียมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของการผลิตปิโตรเลียมให้พร้อมไว้เพื่อเป็นทางเลือก และให้รัฐบาลตัดสินใจในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นหลัก

 

ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานมีมติเสนอทางเลือกที่ 3 ต่อที่ประชุม สปช.เพื่อพิจารณาเสนอ ครม.ต่อไป แต่ที่ประชุมได้มีการลงมติ โดยสมาชิก สปช. ส่วนใหญ่ มีมติไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เสียงข้างมากที่จะให้มีการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 (ตามทางเลือกที่ 3) ด้วยคะแนน 130 ต่อ 79 คะแนน งดออกเสียง 21 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 230 คน

 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2558 ที่ผ่านมาว่า ในเรื่องของทางปฏิบัติเป็นเรื่องของ ครม. ของกระทรวงพลังงานที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง เพียงพอ และไม่ให้ประสบปัญหาในเรื่องของวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต สอดคล้องกับการออกมาระบุแก่สื่อมวลชนก่อนหน้านั้นว่า การเตรียมพลังงานสำรองถือเป็นเรื่องดี เพราะหากไม่สามารถใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและก๊าซที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็ยังมีพลังงานในประเทศสำรองไว้ใช้ การได้มาของพลังงานสำรองจากการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก็จะสอดคล้องกับสัมปทานที่รัฐบาลเคยดำเนินการมาในอดีต ที่ขณะนี้ก็ทยอยที่จะหมดสัมปทานแล้วนั้น

 

ทั้งนี้ จากการอภิปรายและให้ความเห็นเพิ่มเติมของ นายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุว่า มีความกังวลใจว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยจะมีเพียงพอถึง 10 ปีหรือไม่ เพราะตอนนี้ ปตท. ก็ได้ตั้งโรงงานแปรรูปก๊าซ LNG ซึ่งแพงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในปัจจุบันเกือบ 2 เท่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในอนาคต แม้จะหนีไปใช้พลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์ก็ยังจะไม่เพียงพอ เพราะจะต้องมีกำลังสำรองไว้ ซึ่งหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยิ่งอาจจะถูกประชาชนต่อต้านได้

 

ดังนั้น จึงคิดว่าควรมีการประมูลรอบที่ 21 นี้ เพียงแต่ว่าควรใช้ระบบอะไรในการประมูล ซึ่งมีการพูดอยู่ 2 ระบบในขณะนี้คือ (1) แบบสัมปทานที่ใช้กันอยู่ เพียงแต่ครั้งนี้มีการปรับปรุงสัญญาให้เป็นแบบ “ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส” (Thailand (III) Plus) ซึ่งจะให้ผลประโยชน์แก่รัฐมากกว่าเดิม และ (2) การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract - PSC) และประเทศยังเป็นเจ้าของทรัพยากร ซึ่งจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลผลประโยชน์ แต่แนวทางนี้มีปัญหาก็คือจะต้องเร่งออกกฎหมายที่จะใช้กับระบบ PSC

 

ทั้งนี้ ในการที่จะหาบุคลากรที่มีความรู้ในการเข้าไปดูแลข้อมูลและผลประโยชน์นั้น ควรคัดเลือกคนที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาทำหน้าที่ เช่นจาก ปตท. หรือ ปตท.สผ. แต่อาจจะมีอุปสรรคเนื่องจากค่าตอบแทนให้แก่บุคคลากรที่มีประสบการณ์เหล่านี้ของภาคเอกชนนั้นสูงกว่าภาครัฐกว่า 10 เท่า

 

จึงขอเสนอว่าเพื่อให้ทันต่อความต้องการด้านพลังงานของประเทศ ก็ควรให้มีการประมูลแบบ Thailand (III) Plus หรือการสัมปทานโดยมีเงื่อนไขเข้าไปด้วยว่าจะต้องให้คณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเข้าไปดูแลข้อมูลและผลประโยชน์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วย รวมทั้งมีการจ้างที่ปรึกษาภายนอกเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและให้คำแนะนำแก่คณะทำงาน โดยเมื่อได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และมีประสบการณ์ควบคู่กับการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แล้วในอนาคตก็จะสามารถใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตได้ รวมทั้งในโอกาสที่รัฐบาลไทยมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างในขณะนี้นั้น ก็ควรเร่งให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงในบริเวณนั้นด้วย