ENERGY

เมียนมาร์ขอลดส่งก๊าซให้ ปตท. เหตุผลิตก๊าซไม่ได้ตามสัญญา
POSTED ON 12/02/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า "ทางผู้ผลิตก๊าซในแหล่งก๊าซเยตากุนของเมียนมาร์ ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายก๊าซกับ ปตท. ได้ทำหนังสือมาขอเจรจาเพื่อที่จะปรับลดปริมาณก๊าซที่จะต้องส่งมอบตามสัญญาในแต่ละวัน (DCQ) ลงจากเดิมส่งตามสัญญา 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 250 ล้านลูก บาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากไม่สามารถที่จะเพิ่มระดับการผลิตก๊าซให้เป็นไปตามสัญญาได้ ทำให้ที่ผ่านมาได้ถูก ปตท.เรียกค่าปรับมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว"

 

ทั้งนี้ ก๊าซจากแหล่งเยตากุนถือเป็นก๊าซที่มีค่าความร้อนสูง ปกติจะต้องนำมาผสมกับก๊าซจากแหล่งยาดานา ซึ่งมีค่าความร้อนที่ต่ำกว่า เพื่อให้ได้ค่าความร้อนในระดับเหมาะสมกับโรงไฟฟ้าราชบุรี ดังนั้น การปรับลดปริมาณรับซื้อก๊าซจากแหล่งเยตากุนลง ต้องปรับลดก๊าซจากแหล่งยาดานาลงบางส่วนด้วย

 

ในเบื้องต้น ปตท.จะเจรจาขอให้ทางเมียนมาร์รับก๊าซจากแหล่งยาดานาส่วนที่เหลือไป และเพิ่มปริมาณก๊าซจากแหล่งซอติก้าเข้ามาแทน ทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งมาจากเมียนมาร์ไม่ลดลงไปมาก ซึ่งปัจจุบันตามสัญญา ปตท.ซื้อก๊าซจากแหล่งยาดานาในปริมาณ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเยตากุน 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากแหล่งซอติก้า 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ที่รับก๊าซจริงน้อยกว่าสัญญา จากปัญหาของแหล่งเยตากุน

 

นายณัฐชาติ กล่าวว่า ในการเตรียมแผนเพื่อแก้ปัญหาก๊าซจากแหล่งเยตากุนและยาดานาที่จะหมดสัญญาในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า และเหลือเพียงแหล่งก๊าซจากซอติก้าเพียงแห่งเดียว ทำให้ท่อส่งก๊าซจากเมียนมาร์มาไทยยังมีพื้นที่ความจุเหลืออยู่ ดังนั้น ทาง ปตท.มีแผนที่จะใช้เรือคลังก๊าซลอยน้ำ หรือเรือ FSRU (Floating Storage & Regasification Unit) มาใช้เพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศส่งเข้ามาทางท่อในฝั่งเมียนมาร์ จากที่ก่อนหน้านี้จะมีการสร้างคลังรับ LNG บนบก ซึ่งรูปแบบของเรือ FSRU แม้จะมีต้นทุนการดำเนินการสูงกว่า แต่ก็ใช้เงินลงทุนต่ำกว่า เพราะสร้างได้เร็วกว่า โดยตรวจสอบปริมาณสำรองในแหล่งก๊าซเยตากุนแล้วพบว่าก๊าซจะหมดสัญญา ก็สามารถที่จะเร่งเรือ FSRU มาใช้ได้ภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้

 

ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเตรียมแผนที่จะใช้เรือ FSRU เพื่อทดแทนการสร้างคลังรับก๊าซ LNG ปตท.ได้นำเสนอมาให้กระทรวงพลังงานแล้ว โดยมีแนวทางที่จะใช้ทั้งฝั่งที่รับก๊าซจากเมียนมาร์ และใช้กรณีของก๊าซจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ที่มีการหยุดซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง

 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนแม่บทก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ทราบความต้องการใช้ก๊าซในอนาคตและแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว โดยแผนดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2558 และจะมีความชัดเจนว่า ปตท.จะต้องเตรียมการรองรับอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 คาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 4,800-4,900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งไม่ได้ขยายตัวมากนัก จากที่เคยใช้สูงสุดถึงประมาณ 5,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหตุจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

ที่มา : ไทยโพสต์