ENERGY

เอกชนวอนรัฐบรรจุ SPP ในแผนผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่
POSTED ON 14/01/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย และพันธมิตร จับมือ สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ชี้แจงถึงความจำเป็นของการมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแบบพลังความร้อนร่วม (SPP) ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดพิจารณาการบรรจุ SPP ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ การทำสัญญาซื้อขายขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนสัญญาฯฉบับเดิมที่จะครบกำหนดกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในอีก 3 ปีข้างหน้า (SPP Replacement) เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมฯ

 

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สนพ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและ ความมั่นคงสูงใช้ในกระบวนการผลิต ในราคาที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และเพื่อลดการลงทุนที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบพลังงานความร้อนร่วม (Small Power Producer : SPP)  มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยอนุญาตให้โรงไฟฟ้า SPP ผลิตไฟฟ้าขายลูกค้าต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมได้

 

นอกจากนี้ SPP ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและลดความสูญเสียในระบบส่งได้อีกด้วย โดยมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสร้างเสถียรภาพของโครงการในการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารได้

 

นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมถือเป็นยุทธศาสตร์โครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทยและการมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้าและไอน้ำที่มั่นคง ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจากกรณีของโรงไฟฟ้า SPP ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ในกลุ่มแรกจำนวน 25 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,908 เมกะวัตต์ ทยอยสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2560 นั้น แม้ว่าขณะนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานได้รับทราบและเข้าใจเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่อยากเรียนฝากให้ช่วยเร่งรัดพิจารณาดำเนินการบรรจุโรงไฟฟ้า SPP เข้าอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศนี้ และดำเนินการทำสัญญาฉบับใหม่ทดแทนสัญญาฉบับเดิมภายในกลางปีนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP มีเวลาเตรียมตัวที่จะวางแผนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้ไฟและไอน้ำในนิคมอุตสาหกรรมต่อไป

 

ด้าน นายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่าทางสมาคมฯ สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งพิจารณาสรุปแนวทางนโยบายของการซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนสัญญาชุดเดิมที่จะหมดอายุลง ( SPP Replacement) โดยเร็ว เนื่องจากต้องใช้เวลาเตรียมการและพัฒนาโครงการมากกว่า 3 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากการไฟฟ้าและไอน้ำใช้ในกระบวนการผลิต และเนื่องจาก SPP Replacement เป็นการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม จึงไม่มีปัญหาชุมชนและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ นอกจากนี้ ต้นทุนในการปรับปรุงโรงไฟฟ้ายังต่ำกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าบนพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ.ลงได้

 

นายโทรุ นางาฮาตะ ประธานบริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ยี่ห้อ Dunlop ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในการการส่งออกไปยังทั่วโลก เราจึงได้เข้ามาสร้างโรงงานในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ด้วยกำลังการผลิต 74,000 เส้นต่อวัน ผลิตจำหน่ายในประเทศร้อยละ 60 และส่งออกร้อยละ 40 เพราะเล็งเห็นว่ามีระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร ที่สำคัญยิ่ง คือ ระบบไฟฟ้าและไอน้ำที่เราซื้อโดยตรงจากโรงไฟฟ้า SPP ที่นอกจากจะมีเสถียรภาพในระบบไฟฟ้าและไอน้ำที่จะลดความสูญเสียต่อกระบวนการผลิตแล้ว ยังทำให้ต้นทุนลดลง จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้า SPP อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทฯ ในการลงทุนการผลิตในประเทศไทยต่อไป

 

ที่มา : พิมพ์ไทย