ENERGY

สภาอุตฯ หนุนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน-พลังงานทดแทน
POSTED ON 25/12/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นภาคที่ต้องใช้พลังงานสำหรับการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นความมั่นคงด้านพลังงานและราคาของพลังงานที่สามารถแข่งขันได้จึงเป็นความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงขอเสนอจุดยืนด้านพลังงานใน 3 ข้อสำคัญ คือ...

 

1. สนับสนุนให้มีการเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาด (clean coal technology) เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ใช้ไฟฟ้าเป็นหลักในการผลิตและดำเนินการภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าถึง 44% ของไฟฟ้าทั้งหมดการผลิตไฟฟ้าในประเทศในปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตมากถึง 67% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในประเทศมีไม่เพียงพอ ปัจจุบันเราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพื่อนำผลิตไฟฟ้า โดยมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น มีผลกระทบโดยรวมกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

2. สนับสนุนให้มีการผลิตพลังงานทดแทนใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม โดยเน้นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพทั้งปริมาณที่มีในประเทศและต้นทุน เช่น Biomass, Biogas, Ethanol และ Biodiesel รวมทั้งนำขยะมาผลิตพลังงาน (waste to energy) เป็นต้น และจะต้องมีการวิจัยและพัฒนา(R&D) ต่อเนื่อง

 

3. ผลักดันและจูงใจให้มีการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมให้ความรู้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดผ่านการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความพร้อมที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ด้าน นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบกับการส่งเสริมการใช้เอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B-100 ซึ่งเป็นส่วนผสมแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากมีราคาสูงกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยที่ B-100 ปัจจุบันมีราคาที่ 33.54 บาทต่อลิตร ส่วนเอทานอลอยู่ที่ 29.57 บาทต่อลิตร และทำให้เป้าหมายการส่งเสริมการใช้เอทานอลให้ได้ 9 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2564 เป็นได้ลำบากยิ่งขึ้น หรืออาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ โดยปัจจุบันมีการใช้เอทานอลอยู่เพียง 3 ล้านลิตรต่อวัน

 

ขณะที่ทางด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวว่า ราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน และรัฐบาลมีนโยบายที่จะดูแลราคาแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ให้มีส่วนต่างราคาที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด และยังมีความเป็นห่วงปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล หรือเรียกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ เนื่องจากต้นทุนเอทานอลยังสูง ดังนั้น จึงอยู่ระหว่างพิจารณาดูแลระดับราคาต่อไป โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาเป็นกลไกดูแลให้ราคาอยู่ระดับที่เหมาะสม