ENERGY

แผนใหม่ ?พีดีพี 2015? ลดผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเหลือ 17,500MW
POSTED ON 15/12/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  (กพช.) กระทรวงพลังงานได้เสนอให้ที่ประชุม กพช. พิจารณากรอบและแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.25582579 (พีดีพี 2015) เพื่อให้การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

โดยหลักการในการจัดทำแผนจะคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้า เพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงาน การกระจายเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม ลดสัดส่วนการพึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง และคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้า การกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) 15% ของปริมาณการผลิตที่พึ่งได้ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมต่อการจัดทำแผน และ กำหนดเป้าหมายลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 20%

 

สำหรับแนวทางการจัดทำแผนพีดีพี จะประกอบไปด้วย แผนเน้นการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และภาคเกษตรกรรม การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตให้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอันจะส่งผลต่อการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายการลดใช้พลังงานไฟฟ้าลง 20% และลดการใช้เชื้อเพลิงลง 80% และปรับให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีเป้าหมายกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า 20% รวมทั้งมีการวางแผนระบบส่งและระบบจำหน่ายเพื่อรองรับการส่งเสริมพลังงานทดแทน

 

ส่วนแผนพีดีพี จะมีการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทุกประเภท ที่จะถูกบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีดังกล่าว จากเดิมได้กำหนดว่าเมื่อสิ้นสุดอายุของแผนในปี 2579 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 20,000 เมกะวัตต์ แต่ในแผนพีดีพีที่จะปรับปรุงใหม่หลังการอนุมัติของ กพช.ในครั้งนี้ จะมีปริมาณเหลือเพียงประมาณ 17,500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

 

สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะมาจากการผลิตไฟฟ้าจากขยะ 500 เมกะวัตต์ และล่าสุด พพ.ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษและกรมพลังงานทหาร จัดทำพื้นที่สาธิตสำหรับการติดตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่ของทหาร ใน 15 พื้นที่จาก 15 จังหวัด อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่องในการสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ทหารมีข้อดีคือ สามารถตั้งโรงไฟฟ้าได้ทันที เพราะพื้นที่ทหารไม่มีปัญหาเรื่องผังเมือง และลดปัญหาการต่อต้านจากประชาชน นอกจากนี้ ยังจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล 5,500 เมกะวัตต์ แก๊สชีวภาพ (น้ำเสีย) 600 เมกะวัตต์ พืชพลังงาน (หญ้าเนเปียร์) 1,500 เมกะวัตต์ พลังงานน้ำ 377 เมกะวัตต์ จากเดิมที่บรรจุไว้ในแผนที่ 400 เมกะวัตต์ พลังงานลม 3,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 3,500 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม 6,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 3,800 เมกะวัตต์ เป็นต้น

 

ที่มา : แนวหน้า