ENERGY

พลังงาน เล็งปลดล็อคเอกชนลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้า
POSTED ON 09/12/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - "นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม" ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2557 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้พิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวลกรณีผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตแต่ยังไม่ลงทุน สาเหตุหนึ่งมาจากการที่หลักเกณฑ์ของรัฐไม่กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)

 

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าการเสนอขายไฟฟ้าต่อจากนี้ต้องกำหนด COD ชัดเจน จากการตรวจสอบ พบว่า มีเอกชนเสนอขายแบบติดตั้งบนพื้นดินก่อนปิดรับซื้อในเดือน มิ.ย.2553 และยังไม่ได้รับการพิจารณาตอบรับซื้อจำนวน 178 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,013 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดนี้จะต้องกำหนด COD ภายในปี 2558

 

จากทั้งหมดพบว่า ติดปัญหาส่วนใหญ่ 153 โครงการ กำลังผลิต 857 เมกะวัตต์ เกิดปัญหาสายส่งไฟฟ้ารองรับไม่ได้ หรือไม่ผ่านข้อกำหนดทางเทคนิค หรือติดปัญหาที่ดินก่อสร้าง ซึ่งทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะทำหนังสือแจ้งให้ผู้เสนอโครงการที่ตั้งโครงการสามารถย้ายที่ตั้งได้

 

ขณะเดียวกันจะแจ้งจำนวนบริเวณที่มีสายส่งรองรับ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่ามี 200 จุด และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีจำนวน 4,000 จุด โดยผู้ยื่นโครงการต้องตอบกลับและมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(พีพีเอ) ภายในวันที่ 31 มี.ค.2558 และซีโอดีตามที่กำหนดข้างต้น หากไม่ดำเนินการจะตัดสิทธิทันที ไม่มีการพิจารณาให้อีกแล้ว ส่วนกลุ่มที่ไม่มีปัญหา จำนวน 25 โครงการ กำลังการผลิต 138 เมกะวัตต์ ได้มอบหมายให้ กฟภ.ดำเนินการลงนาม PPA และ COD ตามกรอบต่อไป

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการพิจารณาหลักเกณฑ์การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร รวม 800 เกมะวัตต์ เบื้องต้นจะให้เปิดให้ บริษัท จัดการพลังงาน (เอสโค) เข้าร่วมสนับสนุนด้านการเงิน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์ คาดว่าจะประกาศได้ภายในปีนี้

 

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน (โซลาร์รูฟท็อป)ที่ ผ่านมาแม้จะสามารถแก้ปัญหาติดขัดเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) สำเร็จ แต่พบว่ายังติดปัญหาข้อกำหนดเรื่องการดัดแปลงอาคารของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น เร็วๆนี้ทางกรมฯ จะมีกฎกระทรวงเพื่อปลดล็อคเรื่องดังกล่าวออกมา

 

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) กำหนดให้ผลิต 1,800 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบัน มีผู้เสนอเข้ามา 1,900 เมกะวัตต์ โดยจำนวนนี้มี COD แล้ว 250 เมกะวัตต์ พีพีเอและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 400-500 เมกะวัตต์ และที่เหลืออยู่ระหว่างตอบรับซื้อไฟ

 

"ส่วนกรณี นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่โดนหมายจับนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทฯ

 

ส่วนพลังงานทดแทนที่เหลือ คือ ขยะ ไบโอแมส และไบโอแก๊ส กระทรวงฯ จะเร่งสนับสนุนเพื่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ซึ่งรายละเอียดเป้าหมายกำลังผลิตและการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) จะหารือในที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกครั้ง

 

ที่มา : แนวหน้า