ENERGY

พลังงาน แจง จำเป็นต้องเปิดสัมปทานปิโตรฯ รอบ 21
POSTED ON 28/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - "นายคุรุจิต นาครทรรพ" รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังเข้าชี้แจงกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเช้าวันนี้ (28 ต.ค.2557) ว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะกังวลว่าสังคมยังไม่เข้าใจเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน จึงขอให้ชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น และผลประโยชน์จากการเปิดสัมปทานฯ รอบที่ 21 ให้ ครม.ได้รับทราบ

 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่ได้ถือว่ามีการให้สัมปทานแต่อย่างใด เป็นเพียงการเปิดให้ยื่นขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการพิจารณา ซึ่งระหว่างนี้หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงานมีข้อมูลใหม่ก็สามารถส่งมายังกระทรวงพลังงานหรือส่งให้รัฐบาลพิจารณาได้ ซึ่งหากเป็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ก็เชื่อว่ารัฐบาลพร้อมจะพิจารณา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและความเป็นจริง

 

"การตัดสินใจจะให้สัมปทานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ ครม.จะเป็นผู้พิจารณา และกว่าจะพบแหล่งพลังงาน อาจต้องใช้เวลาถึง 8 ปี ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้มีการประเมินว่า แหล่งพลังงานสำรองที่กระทรวงพลังงานมั่นใจที่จะมีใช้อยู่ จะอยู่ได้ประมาณ 7 ปี จึงเป็นที่มาที่ต้องตัดสินใจเปิดรอบที่ 21 กระบวนการไม่ได้ถือว่าเร่งรีบแต่อย่างใด เพราะมีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ต้องยอมรับว่า ณ ช่วงเวลานั้นอาจติดขัดหรือมีการคัดค้าน จึงไม่สามารถดำเนินการได้" นายคุรุจิต กล่าว

 

จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ปัจจุบันประเทศมีการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตตอวัน หากนับตั้งแต่ปี 25 ที่มีการเปิดให้สัมปทานครั้งแรกมีปริมาณการใช้พลังงาน 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตตอวัน เห็นได้ชัดว่าแหล่งก๊าซมีความต้องการใช้มากยิ่งขึ้นและทุกแหล่งที่หามาก็มีแต่ลดลง จึงเป็นที่มาที่ต้องดำเนินการดังกล่าว

 

ส่วนข้อห่วงใยการเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐนั้นที่มีความกังวลกันนั้น นายคุรุจิตชี้แจงว่า ข้อเรียกร้องให้เปรียบเทียบระหว่างระบบสัมปทานปิโตรเลียมกับระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น ทั้ง 2 ระบบไม่มีความแตกต่างกัน แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและการออกแบบการเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าการพิจารณาหาแหล่งก๊าซฯต้องดูในแง่ธรณีวิทยา ในไทยอาจไม่สมบูรณ์เทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย จึงทำให้การที่จะขุดหลุมเจาะไม่เท่ากัน การจะเรียกเก็บอัตราภาษีที่สูงกว่าเดิมก็อาจจะสุ่มเสี่ยงที่อาจจะไม่มีใครมาขอรับสัมปทานเลยก็ได้

 

"ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ ป้อนแหล่งพลังงานใช้ในประเทศมากกว่าความต้องการรายได้เข้ารัฐ แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไข ผลประโยชน์ที่รัฐกำหนดได้ระบุชัดเจน" นายคุรุจิต กล่าว

 

นอกจากนี้ นายคุรุจิต ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนที่มีการระบุว่าแหล่งสัมปทานอาจไปทับซ้อนเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ยืนยันว่าแหล่งที่มีการพูดถึงกันนั้น คือ แปลงสัมปทาน G1/2557 ซึ่งไม่ได้ทับซ้อนเขตพื้นที่ไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด อยู่ในเขตไหล่ทวีป ที่เป็นสิทธิอธิปไตยของไทย 100% และเป็นสิทธิที่ไทยสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าการกำหนดพื้นที่สัมปทานในภาคอีสานจะกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในธรรมชาตินั้น ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน แต่กลับจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาคอีสานด้วยซ้ำ