ENERGY

เอกชนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านคิดค่าไฟฟ้าระบบ FiT
POSTED ON 21/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - "นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ" อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารจังหวัดสงขลา และอดีตกรรมการโรงไฟฟ้าจะนะ ในฐานะกลุ่มภาคี 4 อำเภอ โรงไฟฟ้าจะนะ เตรียมเข้ายื่นหนังสือเรื่อง "ขอให้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบการลงทุนที่แท้จริง หรือ ฟีดอินทาริฟ (FiT)" ต่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เนื่องจากทราบว่าในวันที่ 22 ต.ค.2557 นี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักนโยบายพลังงานและแผน (สนพ.) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน พิจารณาอัตราการรับซื้อไฟฟ้าการลงทุนที่แท้จริง หรือ FiT สำหรับพลังงานทดแทน 4 ประเภท  ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ลม ขยะ ชีวมวลและก๊าซชีวมวลจากพืช และจะให้มีการยกเลิกระบบแอดเดอร์

 

ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานใช้ระบบการอุดหนุน หรือ แอดเดอร์ โดยรัฐจ่ายให้ผู้ผลิตเพิ่ม 30 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มจากราคาขายไฟฟ้าปกติ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจริงจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย เนื่องจากนโยบายที่มีการอุดหนุนหรือจ่ายแอดเดอร์นั้นจูงใจให้โรงงานผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 6 แห่ง ที่ขณะนี้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อก่อสร้าง จัดซื้อที่ดิน บางส่วนดำเนินการก่อสร้างไปแล้วนั้น เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีการลงทุน จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทั้งในส่วนเจ้าของที่ดินที่สำรวจทำสัญญาซื้อขายที่ดินไปแล้ว ในพื้นที่สวนยางที่อายุยางถึงกำหนดโค่นแล้ว คนงานในกระบวนการโค่นยางพารา โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ลานรับซื้อไม้ยางพารา ตลอดจนธุรกิจต่อเนื่องจากการลงทุนในโรงงานไฟฟ้าชีวมวลทั้งระบบ

 

โดยโรงงานไฟฟ้าชีวมวลใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา อาจทบทวนการลงทุนหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เช่น โรงไฟฟ้าจะนะ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าของบริษัท เอเชียกรีน กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าของบริษัท มิตรผล กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าของ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมลงทุนโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

 

ด้าน แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้กระทรวงพลังงานเปลี่ยนแปลงนโยบายไปใช้ระบบ FiT เพราะมีตัวอย่างมาแล้วว่าเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ เพราะเท่าที่ทราบหากเปลี่ยนมาใช้ FiT นั้นรัฐจะจ่ายให้ผู้ประกอบการที่ 3.50 บาทต่อหน่วยไปตลอด 20 ปี โดยจะไม่สามารถปรับขึ้นได้ ทั้งที่จากการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศได้คาดว่าค่าไฟฟ้าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วย ผู้ประกอบการก็จะเสียโอกาสตรงนั้นไปทั้งที่ต้นทุนต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น

 

หากยังคงระบบแอดเดอร์ไว้ที่ปัจจุบันรัฐจ่ายให้ผู้ผลิต 30 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มจากราคาขายไฟฟ้าปกติ 3 บาทต่อหน่วย และแม้ผู้ประกอบการจะขอขึ้นอัตราแอดเดอร์บ้าง แต่รัฐก็จ่ายแอดเดอร์ให้เพียง 7 ปี หลังจากนั้นก็ให้ผู้ประกอบการดูแลตัวเอง

 

ที่มา : แนวหน้า