ENERGY

ไทย-เยอรมัน ร่วมมือเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการโซลาร์เซลไทย
POSTED ON 16/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - เมื่อวันที่ 8-10 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา GIZ และ GTCC ได้จัดสัปดาห์แห่งการอบรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งที่ 1 ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) ขึ้น ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยสัปดาห์แห่งการอบรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งที่ 1 นี้นับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของ พพ. เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่บริษัทไทย โดยมีกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWi) ให้การสนับสนุน เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาตลาดเซลล์แสงอาทิตย์อย่างยั่งยืนในประเทศไทย

 

จากที่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปลายปี 2558 แทนที่จะเป็นปี 2564 ที่กำหนดไว้เดิมนั้น ขณะนี้บริษัทไทยที่ต้องการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาและโซลาร์ฟาร์มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเยอรมันจึงให้การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้บริษัทไทยได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและประสบการณ์ของเยอรมัน เพื่อให้การติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีคุณภาพสูง

 

การพัฒนาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า ในช่วงแรกเทคโนโลยีที่ใช้จะต้องสามารถทำได้ตามที่ผู้ประกอบการคาดหวัง ทั้งในเรื่องของความคงทนและความน่าเชื่อถือ

 

โดยผู้ผลิตระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเยอรมันนั้นถือได้ว่ามีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีวิศวกรรมโครงการด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพ ทาง BMWi จึงได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหอการค้าเยอรมัน-ไทย (GTCC) ร่วมกันสนับสนุนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจด้านเซลแสงอาทิตย์ของบริษัทไทยและเยอรมัน

 

นายธรรมยศ ศรีช่วย รักษาการอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า "เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการอบรม วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจำนวน 8 คน ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรมวิชาการให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากบริษัทต่างๆ จำนวน 55 คน ตลอดหลักสูตร 3 วัน เนื้อหาในช่วงต่างๆ เน้นเรื่องข้อกำหนดและการออกแบบ การคำนึงถึงด้านคุณภาพของระบบ การตรวจสอบบุคคลที่สาม ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจของโครงการและการจัดหาแหล่งทุน การดูแลรักษา การลงบันทึก การตรวจสอบความผิดพลาด รวมถึงหัวข้ออื่นๆ โดยผู้ที่เข้าร่วมอบรมยังได้ไปเยี่ยมชมอาคารอนุรักษ์พลังงานของ พพ. เพื่อให้เห็นภาพการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าอีกด้วย"

 

ต่อเนื่องจากสัปดาห์แห่งการอบรม คณะผู้แทนธุรกิจเยอรมันยังเดินทางมาดูงานด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทยตลอดสัปดาห์ จุดเด่นของการดูงานธุรกิจครั้งนี้คือการสัมมนาวิชาการไทย-เยอรมันเรื่อง "การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้า" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 150 คนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมคราวน์ พลาซา บางกอก ลุมพินี พาร์ค เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาตลาดในปัจจุบัน แผนธุรกิจรูปแบบใหม่และความร่วมมือทางเทคโนโลยี

 

นายยาน อิมเมล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหอการค้าเยอรมัน-ไทย (GTCC) กล่าวว่า "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของเยอรมันมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาตลาดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยี BMWi สนับสนุนให้บริษัทดังกล่าวแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีดำเนินงานที่ดีให้แก่ประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต่อจากนี้บริษัทเยอรมันจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการประชุมย่อยระหว่างบริษัทเยอรมันแต่ละบริษัทกับบริษัทที่สนใจจะดำเนินธุรกิจและโครงการร่วมกัน"