ENERGY

กฟผ. ตั้งงบกว่าแสนล้านบาท ลุยโรงไฟฟ้าถ่านหิน-พลังงานทดแทน
POSTED ON 31/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมแผนงานลงทุนไว้กว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวฉบับปัจจุบัน และสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยต้องก่อสร้างให้เสร็จเพื่อส่งไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 10 ปีข้างหน้า กว่า 8,744 เมกะวัตต์

 

โดยในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีทั้งหมด 1,844 เมกะวัตต์ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 57.25 เมกะวัตต์ พลังงานลม 78 เมกะวัตต์ ที่เขายายเที่ยง เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา พลังงานชีวมวล 4 เมกะวัตต์ ที่ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กตามพื้นที่เขื่อนต่างๆ

 

ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าที่หมดอายุ ในส่วนนี้จะมีกำลังผลิต 6,360 เมกะวัตต์ จะต้องก่อสร้างและเข้าระบบปี 2565 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนโรง 4-7 กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน 1,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับโรงที่ 2 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ ทดแทน 360 เมกะวัตต์

 

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ขณะนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งจะมีการจัดทำแผนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่ออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จประมาณปลายปี 2562 หลังจากนั้นในปี 2565 จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ และในปี2568 จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์

 

โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น จะมีการจัดเวทีกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (ค.1) (Public Scoping) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด) และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ในวันที่ 2 พ.ย.2557 นี้

 

นายรัตนชัย กล่าวว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ BLCP เสนอจะก่อสร้างโรงที่ 2 จังหวัดระยองนั้น ทาง BLCP เสนอว่าขอให้ กฟผ.ร่วมทุนในลักษณะรัฐเอกชน (PPP) ซึ่งจะทำให้อยู่ในส่วนที่ กฟผ.จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,000 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.ยังอยู่ระหว่างหาพื้นที่ใหม่ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 1,200 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้คงต้องพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการร่วมกับ BLCP ได้หรือไม่

 

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้มีการจัดส่งข้อเสนอไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อใช้ในการพิจารณาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ พีดีพี 2015 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2558-2579 แล้ว โดยประเด็นสำคัญคือการเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 30% จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 18% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติที่มากเกินไปคือประมาณ 68% โดยที่ กฟผ.จะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด

 

ที่มา : แนวหน้า