ENERGY

สัมปทานปิโตรฯ ยังเดือด สภาปฏิรูปพลังงานฯ จี้รัฐตรวจสอบ
POSTED ON 31/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศสภาธรรมาภิบาล สภาปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย "พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี" เดินทางไปหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือถึง "พล.อ.ประยุททธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง "พ.อ.อภิชิต ภิญโญชีพ" หัวหน้าส่วนปฏิบัติการศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก เพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการปกป้องทรัพย์สินของแผ่นดินโดยไม่ผิดกฎอัยการศึก และขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ในราชกิจจานุเบกษา และปลดกลุ่มทุนพลังงานทั้งชุด รวมถึงยกเลิก พรบ.ปิโตรเลียม 2514 ทั้งหมด

 

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้ไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมและการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ "นายณรงค์ชัย อัครเศรณี" รมว.พลังงาน "นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม" ปลัดกระทรวงพลังงาน และ "นายคุรุจิต นาครทรรพ" อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรณีประกาศให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 โดยอ้างว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะหมดไป พร้อมประกาศขึ้นราคาก๊าซโดยอ้างต้นทุนก๊าซหุงต้มที่มีราคาสูงขึ้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนและลัดขั้นตอนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 27 จัดกฎหมายอาญามาตรา 152 และมาตรา 157 รวมถึงจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐในการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

 

พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี กล่าวว่า จากรายงานของบริษัท เชฟรอน พบว่า การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา และจากรายงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ขุดเจาะอีก 84% ซึ่งกันข้ามกับการให้ข้อมูลของบุคคลทั้ง 3 นอกจากนี้ ยังพบว่าเอกสารผลประกอบการของบริษัทผู้รับสัมปทานระบุว่าลงทุนไป 2 แสนล้าน แต่มีกำไรเฉพาะปีแรกถึงแสนกว่าล้านบาท อีกทั้งเห็นว่าการให้สัมปทานครั้งนี้ถือเป็นกรรมสิทธิของบริษัทผู้รับสัมปทานที่จะรายงานข้อเท็จจริงของเชื้อเพลิงว่ามีปริมาณเท่าใดก็ได้ โดยรัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งรัฐควรจะใช้วิธีการแบ่งปันกรรมสิทธิเพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ เพราะทั่วโลกก็ใช้วิธีการดังกล่าว

 

ด้าน นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจฯได้ตั้งคณะทำงานด้านพลังงานขึ้นมาตรวจสอบโดยเฉพาะตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา โดยได้มีการข้อเสนอในเรื่องของการกองทุนน้ำมันไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากคำร้องนี้ตรวจสอบแล้วพบว่าขัดรัฐธรรมนูญจริง ก็จะพิจารณาว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปหรือไม่

 

ด้าน นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะนำเรื่องการต่อสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้ สปช.ไปพิจารณาก่อน ว่า ก็ต้องรับฟัง และตนจะให้ข้อมูลกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ซึ่งคงใช้ระยะเวลาเกิน 2เดือน อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้เห็นว่ารัฐบาลควรชะลอการต่อสัมปทานรอบที่ 21 ออกไปก่อน เพราะหากดำเนินการไปแล้วจะมีผลผูกพันนานถึง 39 ปี เป็นการผูกพันบ้านเมืองในระยะยาว จึงควรทำอย่างรอบคอบ

 

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง สปช.ด้านสังคม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน เพราะหากอนุญาตให้ทำสัญญาสัมปทานรอบที่ 21 ไปแล้วค่อยมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ควรจะเป็นความเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นความคาดหวังของคนที่เห็นขัดแย้งในขณะนี้ ทุกฝ่ายจึงควรหารือถึงข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้ข้อยุติ

 

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการไปเยือนมิตรประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการระหว่าง 30-31 ต.ค.นี้ ว่า จะไม่นำประเด็นความขัดแย้งเดิมไปพูดคุยกัน แต่จะเน้นพูดคุยในเรื่องความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ พลังงานในพื้นที่ทับซ้อน หรือผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะพูดคุยถึงเรื่องความร่วมมือดังกล่าว เช่น อาจจะจัดแพ็คเกจการท่องเที่ยวร่วมกัน นอกจากนี้ จะมีการหยิบยกเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าวไปพูดคุยด้วย โดยเราจะดูแลทั้งระบบ

 

ที่มา : แนวหน้า