ENERGY

กกพ. ออก CoP ควบคุมผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ด้านความปลอดภัย-สิ่งแวดล้อม
POSTED ON 31/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้จัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงโฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Panel) ขึ้น จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบกิจการที่เข้าข่ายต้องได้รับใบอนุญาต ที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) ขึ้นไป และผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 1,000 kVA

 

โดย CoP ทั้ง 2 ฉบับได้เน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยตั้งแต่การออกแบบติดตั้ง และการกำจัดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน ตลอดจนกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงการออกประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ CoP จำนวน 2 ฉบับว่า เป็นการดำเนินงานโดยพิจารณาถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กกพ. ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 และได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำข้อคิดเห็นที่ได้มาพิจารณาทบทวน และปรับปรุงให้มาตรการมีความสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน

 

สาระสำคัญของ CoP ทั้ง 2 ฉบับ กกพ.ได้เน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการออกแบบติดตั้งตั้งแต่ระยะเตรียมการโครงการ และมาตรการด้านการจัดการขยะและกากของเสีย คือ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน โดยสามารถส่งกำจัดได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การเผาทำลายในเตาเผาเฉพาะ หรือการส่งไปกำจัดกับหน่วยงานต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายแล้วแต่กรณี เป็นต้น

 

แต่ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบกิจการ Solar Farm ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งตั้งแต่ 1,000 kVA หรือ 1 เมกะวัตต์ (MW) ขึ้นไป กกพ. จะมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมของโครงการ โดยสามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th

 

"จากการที่ กกพ.ได้กำหนดมาตรการใน CoP ดังกล่าว ช่วยให้ กกพ.มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ใบอนุญาต และมีมาตรการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยเน้นความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจกับชุมชน และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ระยะเตรียมการโครงการ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดข้อวิตกกังวลและคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ อีกทั้งเป็นกลไกที่ช่วยให้โครงการที่ปฏิบัติตามมาตรการใน CoP มีการพัฒนาโครงการไปในแนวทางเดียวกับหลักเกณฑ์การประเมินโครงการ CDM โดยไม่สร้างภาระอันเกินควรให้แก่ผู้ประกอบกิจการพลังงานตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน" นายวีระพลกล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ