ENERGY

พลังงาน เตรียมเปิดสัมปทานปิโตรฯ 21 ชี้ ก๊าซฯจะหมด ต้องหาเพิ่มด่วน
POSTED ON 07/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยในงานให้ความรู้สื่อมวลชน (เอเนอร์ยี ฟอรั่ม) ครั้งที่ 1 "เข้าใจ เข้าถึง ก๊าซธรรมชาติ" ว่า รัฐบาลต้องการให้คนไทยทุกคนทราบถึงความสำคัญของก๊าซธรรมชาติว่าเป็นก๊าซที่มีความสำคัญที่สุด สามารถนำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย แต่ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมดจากอ่าวไทย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 หากเป็นไปได้ก็พร้อมจะเซ็นอนุญาตให้เปิดสัมปทานภายในเดือนนี้ (ตุลาคม 2557) และมีกระบวนการสำรวจภายในปีงบประมาณ 2558

 

นอกจากนี้ อีกแนวทางเพิ่มสำรองก๊าซธรรมชาติที่สำคัญคือการพิจารณาต่ออายุสัมปทานในแหล่งก๊าซธรรมชาติเดิมซึ่งอยู่ในอ่าวไทย โดยการพิจารณานั้นจะต้องแลกกับผลประโยชน์ว่าไทยจะได้อะไรเพิ่มขึ้น เพราะหากสำเร็จจะได้ปริมาณสำรองจำนวนมาก คือ แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา และระหว่างไทย-เวียดนาม

 

ปัจจุบันรัฐบาลได้ตั้งทีมทำงานขึ้นมาพิจารณาแนวความร่วมมือที่เหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะแหล่งทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่อดีตเคยมีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน แต่หากตกลงกันได้ก็สามารถแบ่งประโยชน์ร่วมกันได้ โดยขั้นตอนทั้งหมดทั้งการหาใหม่ นำเข้า จะต้องทำควบคู่กับการประหยัดพลังงานด้วย

 

อย่างไรก็ดี กระบวนการทั้งหมดรัฐบาลจะเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ต้องมีราคาจำหน่ายคุ้มค่า จูงใจการลงทุนด้วย อาทิ ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนแท้จริง จึงต้องปรับโครงสร้างให้ถูกต้อง โดยการประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 22 ต.ค.2557 นี้ จะพิจารณาแนวทางปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดทำไว้ เพื่อเดินหน้าให้สำเร็จภายในช่วงการบริหารของรัฐบาล

 

ด้าน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดหาก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับไทย ควรเร่งดำเนินการภายใน 2-3 ปี ไม่ว่าจะมาจากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 การต่ออายุสัมปทานแหล่งเดิมที่ปตท.สผ.และเชฟรอนดำเนินการอยู่ และการแบ่งปันผลประโยชน์แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อน เพราะการมีก๊าซธรรมชาติในประเทศจะช่วยให้ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยไม่สูงเกินไปจนกระทบกับค่าไฟฟ้า เพราะปัจจุบันราคาก๊าซฯ ปากหลุมเฉลี่ย 8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่นำเข้าเฉลี่ย 15-16 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

 

"จากคาดการณ์ปี 2566 เป็นต้นไปที่ก๊าซธรรมชาติในประเทศจะหมด แม้จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์เข้าระบบแล้ว แต่ไทยยังมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ จำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีราคาสูง อาจทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 5.50 บาทต่อหน่วยขึ้นไป (ปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ 3.96 บาทต่อหน่วย)" นายศิริกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสเจอก๊าซในชั้นหินดินดาน (เชลก๊าซ) ในภาคอีสาน ที่มีปริมาณสำรอง 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต กระจายในอีสานตอนบน อาทิ นครราชสีมา ขอนแก่น แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะลงทุนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือไม่ เพราะหากไม่ลงทุนรัฐบาลจะต้องลงทุนคลังสำรองแอลเอ็นจีแทน คาดว่าจะใช้อีกประมาณ 5-6 คลัง เพื่อรองรับก๊าซอัตรา 30-35 ล้านตันต่อปี

 

นายมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แอกซอนส์โมบิล หรือ เอสโซ่ ระบุว่า ในปี 2040 ความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 30% โดยเฉพาะสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก เนื่องจากมีราคาต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานที่มีราคาใกล้เคียงกัน และปัจจุบันมีการนำก๊าซมาใช้ในปัจจัยหลายรูปแบบการผลิตมากขึ้น ซึ่งในอนาคตมองว่าภาคส่วนที่มีการใช้ก๊าซมากที่สุดยังคงเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันคาดว่าในอนาคตจากการสำรวจปริมาณก๊าซธรรมชาติจากทั่วโลกจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองใช้ได้ถึง 200 ปี โดยที่ต้นทุนการผลิตเพื่อจัดก๊าซจะเพิ่มขึ้นตาม

 

ที่มา : แนวหน้า