ENERGY

ปตท. รอผลตรวจสอบประมูลไอพีพี 5,000MW ก่อนสร้างคลัง LNG เฟส3
POSTED ON 29/09/2557


ข่าวพลังงาน - นายภาณุ สุทธิรัตน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากกระทรวงพลังงาน กรณีการตรวจสอบการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ขนาดกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ที่มีเอกชนเพียงรายเดียว คือ บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด ชนะการประมูลไปมีความโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งหากผลการตรวจสอบออกมาไม่มีอะไรเปลี่ยน บริษัทฯ ก็จะได้เตรียมความพร้อมที่จะลงทุนก่อสร้างคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มเติมอีก 5 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นระยะที่ 3 จากปัจจุบันระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

 

นอกจากนี้ หากผลการพิสูจน์ออกมาพบว่า จะต้องเปิดให้มีการประมูลไอพีพีใหม่ ซึ่งคงต้องดูว่าในการแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ 2015 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำจะมีการนำไอพีพีดังกล่าวเข้าไปบรรจุอยู่ในแผนหรือไม่ และมีการเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติไปเป็นถ่านหินด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซลดลง การนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคตอาจจะชะลอตัวลงด้วย ก็อาจจะต้องเลื่อนการก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีเฟส 3 ไว้ก่อน เพราะความต้องการใช้แอลเอ็นจีในเฟสนี้จะเกิดขึ้นในอีก 7-8 ปีข้างหน้า

 

ขณะนี้การดำเนินงานอยู่เพียงการหาสถานที่ก่อสร้างเท่านั้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ที่ผ่านมาได้ลงนามกับ IHI E&G International Cooperation ของญี่ปุ่น ก่อสร้างคลังนำเข้าแอลเอ็นจีเฟส 2 ขนาด 5 ล้านตัน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดิมของเฟสแรก ตามแผนจะก่อสร้างเสร็จในปี 2560 จะทำให้จัดหาก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มอีก 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่เฟสแรกมีความจุ 5 ล้านตัน วงเงินลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท รวมการจัดหาก๊าซธรรมชาติได้ 1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

 

สำหรับปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านตัน จากเป้าเดิม 3.5 ล้านตัน ส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว แม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แต่ความต้องการใช้ก๊าซก็ยังไม่เติบโตมากนัก ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2558 ความต้องการใช้แอลเอ็นจีจะเติบโตขึ้น โดย ปตท.จะซื้อแอลเอ็นจีจากตลาดจรลดลง เนื่องจากจะต้องรับแอลเอ็นจีจากกาตาร์ ตามสัญญาระยะยาวที่ทำร่วมกันไว้ 2 ล้านตัน

 

ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (จีพีเอสซี) เปิดเผยว่า แผนลงทุนของบริษัทฯ ในระยะยาว ยังคงเน้นไปที่ธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าการขยายโรงไฟฟ้าในไทยจะยากขึ้น แต่บริษัทฯ ก็เน้นลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะจับมือไปกับกลุ่ม ปตท. เบื้องต้นมีโครงการที่อยู่ระหว่างหารือและเตรียมสรุปคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 1-2 พันเมกะวัตต์ ในเมียนมาร์ โดยพื้นที่ลงทุนจะอยู่ภาคตะวันออก หรือแถวนิคมอุตสาหกรรมทวายของเมียนมาร์

 

"ตอนนี้คงต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐ แต่เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น จะต้องร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทาง บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ เอ็กโก บ้างแล้ว คาดว่าจะสรุปได้เร็วๆ นี้ โดยยอมรับว่าการลงทุนภาคธุรกิจไฟฟ้าสามารถเป็นพันธมิตรร่วมกันไม่ใช่คู่แข่งเสมอไป" นายสุรงค์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังรอความชัดเจนจากทางรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินปากเหมือง ขนาด 30 เมกะวัตต์ โดยอาจเป็นปากเหมืองของ ปตท. หรือเหมืองอื่นๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใดมีความต้องการใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ บริษัทฯ จะต้องหารือกับทางรัฐบาลเมียนมาร์และพันธมิตรต่อไป

 

สำหรับความคืบหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ยังคงยืนยันว่าจะสามารถเข้าภายในไตรมาสแรกปี 2558 โดยมี บล.เคที ซีมิโก้ฯ, บล.ทิสโก้ฯ และ บล.ฟินันซ่าฯ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6 พันเมกะวัตต์ในปี 2565 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.8 พันเมกะวัตต์ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ นอกจากนี้ ยังตั้งสัดส่วนกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 5-10% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ