ENERGY

ผลสำรวจ ชี้ คนอีสานค้านตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์
POSTED ON 11/10/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “การรับรู้และความคิดเห็นประเด็นพลังงานของคนอีสาน” ผลสำรวจพบว่า คนอีสานไม่เชื่อข่าวที่ว่าอีสานอาจมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาลครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของภาคอีสาน แต่เชื่อว่ารัฐและเอกชนได้ประโยชน์พอๆ กัน จากการจัดการผลประโยชน์ในทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

 

ส่วนประเด็นการส่งคืนท่อก๊าซนั้น คนอีสานไม่แน่ใจหรือไม่ได้ติดตาม ด้านรายชื่อสภาปฏิรูปด้านพลังงานคนอีสานก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าข้อมูลด้านพลังงานจากผู้บริหารกระทรวงพลังงานน่าเชื่อถือกว่ากลุ่มอื่นๆ และเชื่อว่าสาเหตุหลักน้ำมันแพงคือการผูกขาดธุรกิจ และยังคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้มีกองทุนพัฒนาชุมชน

 

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นและการรับรู้ของคนอีสานเกี่ยวกับประเด็นพลังงาน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,076 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

 

เมื่อสอบถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าอีสานอาจมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาลครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของภาคอีสาน ท่านเห็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.4 เชื่อว่ามีไม่มากขนาดนั้น รองลงมาร้อยละ 24.1 เชื่อว่ามีมากจริง และอีกร้อยละ 20.5 ไม่แน่ใจกับข่าวดังกล่าว

 

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยมีการจัดการผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างไร พบว่า อันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.4 เห็นว่ารัฐและเอกชนได้ประโยชน์พอๆ กัน รองลงมาร้อยละ 26.4 เห็นว่ารัฐได้ผลประโยชน์สุทธิมากกว่าเอกชน และอีกร้อยละ 14.2 เห็นว่าเอกชนได้ผลประโยชน์สุทธิมากกว่ารัฐ

 

เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งคืนท่อก๊าซของ ปตท. ให้กับรัฐที่ผ่านมาเป็นธรรมหรือไม่ พบว่า อันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.2 ไม่แน่ใจเกี่ยวกับการส่งคืนท่อก๊าซของ ปตท. รองลงมาร้อยละ 28.0 ยังไม่ทราบเรื่อง ร้อยละ 12.6 เห็นว่าเป็นธรรมเหมาะสมกับทุกฝ่ายแล้ว ร้อยละ 10.1 เห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะภาครัฐยังไม่ได้ท่อก๊าซคืนในส่วนที่วางใต้ทะเล และอีกร้อยละ 6.2 เห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะ ปตท.เสียประโยชน์ที่ควรได้

 

ด้านความพึงพอใจต่อรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน พบว่า อันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 53.7 ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร รองลงมาร้อยละ 23.7 พอทราบและเฉยๆ ร้อยละ 11.9 พอทราบและไม่พอใจ และร้อยละ 10.6 พอทราบและพอใจ

 

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับฟังข้อมูลด้านพลังงานของไทย กลุ่มใดที่ให้ข้อมูลได้น่าเชื่อถือที่สุด พบว่า อันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.4 เห็นว่าผู้บริหารกระทรวงพลังงานน่าจะให้ข้อมูลได้น่าเชื่อถือที่สุด รองลงมาร้อยละ 22.3 เห็นว่าเป็นนักวิชาการพลังงาน ร้อยละ 18.4 เห็นว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวปฏิรูปพลังงาน ร้อยละ 13.2 เห็นว่าเป็นผู้บริหารธุรกิจพลังงาน และที่เหลือร้อยละ 3.7 เห็นว่าเป็นกลุ่มอื่นๆ

 

เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า สาเหตุหลักๆ ที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยแพงคืออะไรในความเข้าใจของท่าน พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 44.9 เข้าใจว่าเป็นการผูกขาดธุรกิจน้ำมัน รองลงมา ร้อยละ 35.6 เข้าใจว่าเป็นภาษีและกองทุนน้ำมัน และร้อยละ 19.5 เข้าใจว่าเป็นไปตามราคาตลาดโลก

 

นอกจากนี้ อีสานโพลยังสอบถามต่อว่าหากจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ตั้งใกล้ชุมชนของท่าน โดยมีการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนด้วย ท่านจะต่อต้านหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 66.8 จะต่อต้านโรงไฟฟ้าดังกล่าว รองลงมาร้อยละ 20.8 ยังไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 12.4 คิดว่าจะไม่ต่อต้าน

 

ท้ายสุด ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาจังหวัดด้วยเช่นเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 80.4 จะต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน รองลงมาร้อยละ 13.3 ยังไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 6.3 คิดว่าจะไม่ต่อต้าน

 

หมายเหตุ : นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น