ENERGY

ส.อ.ท. ชี้ ระบบ adder จูงใจเอกชนลงทุนไฟฟ้ามากกว่า FiT
POSTED ON 22/09/2557


ข่าวพลังงาน - นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.จะยื่นหนังสือถึง "นายณรงค์ชัย อัครเศรณี" รมว.พลังงาน ในวันที่ 22 ก.ย. 2557 นี้ เพื่อขอให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดของกระทรวงพลังงาน ที่จะยกเลิกการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบแอดเดอร์ (เงินส่วนเพิ่มในการรับซื้อไฟฟ้า) แล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบฟีทอินทารีฟ หรือ การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริงระยะยาว 25 ปี

 

ทั้งนี้ ส.อ.ท. เห็นว่าระบบแอดเดอร์เหมาะสมอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการ ขณะที่ระบบฟีทอินทารีฟมีข้อเสียตรงที่การกำหนดให้เงินสนับสนุนคงที่ระยะยาว 25 ปีนั้น จะส่งผลให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด เนื่องจากในอนาคตราคาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการแพงขึ้นหรือถูกลงได้

 

“การกำหนดราคาตายตัวระยะยาว 25 ปี จะกลายเป็นความเสี่ยงของภาคเอกชนให้ต้องแบกรับภาระในอนาคตได้ และทำให้ปัจจุบันสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้รับเงินสนับสนุนรูปแบบฟีทอินทารีฟด้วย นอกจากนี้ราคาวัสดุอุปกรณ์ด้านพลังงานทดแทนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งกระทรวงพลังงานยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะคาดการณ์ราคาเทคโนโลยีระยะยาวได้” นายพิชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังขอให้ปรับอัตราเงินค่าแอดเดอร์ใหม่ใน 5 เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ได้แก่ (1) การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขอให้เพิ่มค่าแอดเดอร์จาก 30 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 1 บาทต่อหน่วย (2) การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพหรือ ไบโอแก๊สจากน้ำเสีย ขอให้เพิ่มค่าแอดเดอร์จาก 50 สตางค์ต่อหน่วยเป็น 1 บาทต่อหน่วย (3) การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ควรให้ค่าแอดเดอร์ 3.50 บาทต่อหน่วย (4) การผลิตไฟฟ้าจากขยะ ให้ค่าแอดเดอร์เท่าเดิม 3.50 บาทต่อหน่วย แต่ให้ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการให้จาก 7 ปี เป็น 10 ปี และ (5) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เสนอให้กำหนดค่าแอดเดอร์เป็นราคาเดียวที่ 4.50 บาทต่อหน่วย จากเดิมกำหนดแอดเดอร์ให้พลังงานลมขนาดใหญ่ 3.50 บาทต่อหน่วย ขนาดเล็ก 4.50 บาทต่อหน่วย

 

นายพิชัย ยังกล่าวด้วยว่า ส.อ.ท.เชื่อว่าอัตราที่ภาคเอกชนเสนอให้ปรับเปลี่ยนใหม่นี้ จะช่วยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการรายเล็กมาก (VSPP) ที่ผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ยื่นและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไว้ทั้งสิ้น 1,813 เมกะวัตต์ แต่สามารถผลิตได้จริงมีเพียง 721 เมกะวัตต์ หากปรับระบบแอดเดอร์ใหม่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตสนใจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้มากขึ้นในอนาคต

 

รวมไปถึงการเสนอให้ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใหม่ จากปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากโซล่าร์เซลล์บนหลังคา (โซล่าร์รรูฟท็อป) ไม่ถึง 10% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (โซล่าร์ฟาร์ม) มีสัดส่วนถึง 90% นั้น ควรปรับสัดส่วนให้เหมาะสมโดยเพิ่มโซล่าร์รูฟท็อปเป็น 60% และลดโซล่าร์ฟาร์มเหลือ 40% ของการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าบนหลังคาให้มากขึ้นตามนโยบายรัฐต่อไป

 

ที่มา : แนวหน้า, กรุงเทพธุรกิจ