ENERGY

กฟผ. เผย พร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์
POSTED ON 18/09/2557


ข่าวพลังงาน - นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ทาง กฟผ. มีความพร้อมที่จะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการจะลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งต้องรอดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ ที่จะออกมาก่อนว่าจะมีการระบุแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จำนวนกี่เมกะวัตต์ และจะเข้าสู่ระบบในปีใดบ้าง

 

ทั้งนี้ ในแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่3 (ปี 2555-2573) ซึ่งเป็นฉบับเดิม กำหนดให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จำนวน 4 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์ รวม 3,200 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าสู่ระบบในปี 2562, 2565, 2568 และ 2571 ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระบุไว้ในแผนเดิมจะมีจำนวน 2 โรง โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ รวม 2,000 เมกะวัตต์ จะเข้าสู่ระบบในปี2569 และ 2571

 

“กฟผ.มีศักยภาพที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้มากกว่า 4 โรง แต่ก็ขึ้นอยู่กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ ว่าจะระบุอย่างไร ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กฟผ.อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในเรื่องของบุคลากร เทคโนโลยี และข้อกฎหมาย ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว“ นายสุนชัย กล่าว

 

นายสุนชัย ยังกล่าวถึงการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ สปป.ลาว ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 ก.ย.2557 นี้ด้วยว่า กฟผ. เตรียมรายงานความคืบหน้าโครงการต่างๆ ที่ คสช. อนุมัติแล้วให้กลุ่มประเทศอาเซียนรับทราบ อาทิ โครงการพลังงานทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชุดที่ 4-7 ปัญหาอุปสรรคในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่

 

ด้าน นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.กล่าวถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ที่ จ.กระบี่ ว่า กฟผ.จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ครั้งที่ 3 ในเรื่องระบบการขนส่งถ่านหิน ในวันที่ 28 ก.ย.2557 นี้ ส่วนในวันที่ 12 ต.ค.2557 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีการรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ นำเสนอเพื่อขออนุมัติตามขั้นตอน คาดว่าน่าจะเริ่มกระบวนการก่อสร้างในปี 2558

 

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น กฟผ. มีความร่วมมือกับ บริษัท ไชน่า กว่างตง นิวเคลียร์ พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ในการส่งบุคลากรไปฝึกอบรมทุกปีๆ ละ 20-25 คน โดยตั้งงบประมาณเตรียมการด้านบุคลากรเอาไว้ปีละประมาณ 30 ล้านบาท

 

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงานที่จะให้ถอดโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากแผนพีดีพีฉบับปัจจุบันนั้น กฟผ.พร้อมที่ชี้แจงให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะประชาชนจะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และประเทศจำเป็นจะต้องมีการกระจายเชื้อเพลิง จากที่ปัจจุบันพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่สูง

 

ด้าน นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเรียกผู้บริหารกระทรวงพลังงานมาสอบถามความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พร้อมหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ที่ในท้ายที่สุดราคาจะต้องถูกปรับขึ้นให้สะท้อนต้นทุน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ