ENERGY

NGV-LPG ภาคขนส่ง เตรียมปรับราคาขึ้น ต.ค.นี้
POSTED ON 19/09/2557


ข่าวพลังงาน - นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงพลังงานว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งเดินหน้านโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงานต่อ โดยกำหนดปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคขนส่งและก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ในเดือน ต.ค.2557 นี้เป็นต้นไป เนื่องจากปัจจุบันแอลพีจีภาคขนส่งถูกตรึงราคาอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม และเอ็นจีวีอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งยังเป็นราคาที่ยังไม่สะท้อนต้นทุน ดังนั้น จำเป็นต้องทยอยปรับเพื่อความเหมาะสมต่อไป

 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการพิจารณาต่อไปว่าจะปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองชนิดอย่างไรและเท่าไหร่ ส่วนมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่มีรายได้น้อยยังจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อ ซึ่งเบื้องต้นอาจยังใช้แนวทางเดิมคือ บัตรเครดิตพลังงาน หรืออาจมีแนวทางอื่น ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

 

นอกจากนี้ ในส่วนของการปรับราคาน้ำมันนั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้ทยอยปรับโครงสร้างราคาไปก่อนแล้ว โดยลดราคาน้ำมันลง 1-3 บาทต่อลิตรไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2557 ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ไปจะต้องทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันบางชนิดเพื่อให้สะท้อนต้นทุนต่อไป โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล ซึ่งเมื่อเป็นเชื้อเพลิงเหมือนกันก็ควรเสียภาษีในอัตราเดียวกันกับเบนซิน

 

ส่วนแผนลำดับต่อไปหลังจากเดือน ต.ค.เป็นต้นไป กระทรวงพลังงานจะทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันถูกตรึงราคาไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ให้ทยอยปรับขึ้นตามกลไกตลาด โดยเรื่องนี้ตนได้หารือกับกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจะเป็นในรูปแบบใด ยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ แต่ยืนยันว่าตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 โครงสร้างราคาพลังงานจะต้องเป็นไปตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้

 

สำหรับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกฯ คือการสร้างความมั่นคง ด้านไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซฯ ไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน นอกจากนี้ จำเป็นต้องให้ความชัดเจนด้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมทั้งแห่งเก่าที่กำลังจะหมดอายุและสัมปทานรอบที่ 21โดยด่วน เพราะการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศมีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทย โดยราคาก๊าซในเมียนมาร์แพงกว่าไทย 50% และก๊าซจากการ์ต้าแพงกว่า 1 เท่าตัว

 

นายณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานยังยืนยันจะเดินหน้าเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมทั้งแหล่งบนบก และในทะเล รอบที่ 21 ตามเดิมอย่างแน่นอน เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หากชนะการประมูล เพราะประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ จึงต้องเผื่อเวลาในการเปิดสัมปทาน เนื่องจากแหล่งก๊าซฯ ของประเทศไทยส่วนใหญ่ในแต่ละหลุมผลิตมีอายุการขุดเจาะเพียง 5 ปี ส่วนในต่างประเทศมีอายุ 10 ปี

 

ขณะที่ผู้ที่ได้รับสัมปทานในปัจจุบันก็ต้องมีการเจรจาต่ออายุสัญญาก่อนครบกำหนดก่อน5ปีล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัวในการต่อสัญญาหรือยกเลิกสัญญาเป็นต้น

 

“หากพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศจำนวนมากจะส่งผลกระทบค่าไฟในประเทศที่ต้องปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบยังรวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากนักลงทุนต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากสู้ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นไม่ไหว ทำให้แข่งขันกับต่างประเทศยาก” นายณรงค์ชัย กล่าวย้ำ

 

ขณะที่ทางด้าน นายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนโยบายปรับโครงสร้างราคาดีเซลว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีจากอีก 0.005 สตางค์ เป็นประมาณ 0.75 สตางค์ต่อลิตร ก็ตาม แต่ยังพบว่าพฤติกรรมการใช้น้ำมันยังมีประชาชนหันไปใช้น้ำดีเซลเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ต้นทุนดีเซลและกลุ่มเบนซินไม่ได้แตกต่างกัน ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ก็ควรจะหามาตรการอื่นๆ มาช่วยเฉพาะกลุ่ม แทนมาตรการตรึงราคาดีเซล ส่วนโครงสร้างดีเซลก็ควรปรับให้เหมาะสมตามตลาด โดยประกาศล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าในการปรับแผนการผลิตรองรับ  

 

นอกจากนี้ นายวิเชียรยังกล่าวถึงการรับข้าวเสื่อมคุณภาพจากรัฐบาลในโครงการจำนำข้าวมาผลิตเอทานอลด้วยว่า ขณะนี้ทางบางจากมีความพร้อมรองรับนำข้าวดังกล่าวมาผลิตเป็นเอทานอล แต่รัฐบาลเองยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งมอบหรือไม่ ซึ่งบางจากต้องการเห็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐในการส่งเสริมเอทานอลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 95

 

ที่มา : ไทยโพสต์, แนวหน้า