ENERGY

รมว.พลังงาน เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
POSTED ON 16/09/2557


ข่าวพลังงาน - นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเข้าทำงานที่กระทรวงพลังงานว่า เรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงพลังงานต้องเร่งพิจารณา เรื่องที่ 1 คือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการปรับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องนำไปสู่ราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างราคาที่บิดเบือน ทำให้เกิดการใช้ในกลุ่มดีเซลและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น ดังนั้น ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีและราคาเชื้อเพลิงให้เท่าเทียมกัน

 

โดยราคาน้ำมันดีเซลที่ถูกตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพราะเป็นนโยบายประชานิยมตั้งแต่เดือน เม.ย.2554 หากปล่อยไว้จะส่งผลเสียต่อรุ่นลูกหลานในการใช้พลังงานอย่างบิดเบือน ขณะเดียวกันแอลพีจีไม่ควรถูกใช้ในภาคขนส่ง แต่ควรใช้ในภาคปิโตรเคมี เพราะเป็นการนำของดีไปเผาทิ้ง

 

สำหรับงานเร่งด่วนที่ 2 การพิจารณาสัมปทานปิโตรเลียมเก่าที่จะหมดอายุว่าจะทำอย่างไรต่อไป และการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เนื่องจากปัจจุบันความน่าสนใจในการสำรวจแหล่งปริโตรเลียมในประเทศไทยลดลง และการเปิดสัมปทานรอบใหม่ๆ ก็เลื่อนออกมาเรื่อยๆ จึงยังไม่มีข้อสรุปจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะเร่งพิจารณาโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังเตรียมเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาด้วย

 

ส่วนเรื่องที่ 3 ส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญของความมั่นคงด้านไฟฟ้า ซึ่งดูจากสถิติปัจจุบันแล้ว ไทยต้องพึ่งพาก๊าซในการผลิตไฟฟ้า 70% ดังนั้น จำเป็นต้องกระจายเชื้อเพลิงให้มีความสมดุล โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังจำเป็นต้องศึกษาไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) เช่นกัน ขณะที่โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) หากมีการสนับสนุนมากเกินไป ก็ไม่เหมาะสม เพราะนอกจากไม่เสถียรแล้ว ยังติดตั้งแผงเซลล์จำนวนมากด้วย

 

ด้าน นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโนบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซล 0.70 บาท/ลิตร จาก 1 บาท/ลิตร เป็น 1.70 บาท/ลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับที่สูงถึง 2.20 บาท/ลิตร ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2557 เป็นต้นไป

 

หลังจากปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้ จะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันทุกประเภทคงเดิม แต่กองทุนน้ำมันฯ  จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,125 ล้านบาท/วัน จาก 1,716 ล้านบาท/วัน เป็น 2,841 ล้านบาท/วัน โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบ 5,982 ล้านบาท หากกองทุนน้ำมันฯ มีรายรับในอัตรานี้จะส่งผลให้กองทุนฯ กลับมามีสถานะเป็นบวกภายใน 2 เดือนข้างหน้า

 

ที่มา : ไทยโพสต์