ENERGY

พาณิชย์ถกเอกชนตรึงราคาสินค้า หลังปรับขึ้น NGV-LPG ขนส่ง
POSTED ON 24/09/2557


ข่าวพลังงาน - นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะหารือกับเอกชนเพื่อขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าว่า หากเป็นไปได้ต้องการให้ราคาสินค้าสะท้อนกลไกตลาดจะดีที่สุดเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งการตรึงราคาสินค้าหากดำเนินการระยะสั้น 3 เดือนก็น่าจะรับได้ เนื่องจากภาพรวมราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมทั้งอุปโภคและบริโภคนั้นการปรับขึ้นคงน้อยอยู่แล้ว เพราะสต็อกสินค้ายังค่อนข้างมีสูง เนื่องจากที่ผ่านมาการบริโภคของคนไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง   

 

"ภาพรวมราคาสินค้าก็คงจะไม่ขึ้นอยู่แล้ว แต่บางรายเราก็ต้องยอมรับความจริงว่าถ้าต้นทุนเขาอั้นไม่ไหวก็ควรจะปล่อยไป โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องที่จะเพิ่มต้นทุนเข้าไป สิ่งที่เป็นปัจจัยมาเกี่ยวข้องกับต้นทุนราคาสินค้าคือ กรณีที่รัฐบาลเตรียมประกาศปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึง LPG ภาคขนส่ง โดยเฉพาะ NGV นั้นใช้กับรถบรรทุกจำนวนมาก ก็จะต้องมาพิจารณาถึงค่าขนส่งที่อาจจะเพิ่มขึ้น" นายวัลลภ กล่าว

 

ขณะที่ทางด้าน นายภาณุ สุทธิรัตน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เผยว่า ในปีนี้การใช้ก๊าซแอลเอ็นจีของประเทศอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ประเมินจะต้องนำเข้า 3.5 ล้านตันต่อปี โดยปีนี้การใช้แอลเอ็นจีต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต่ำกว่าแผน จะเห็นได้จากการใช้ไฟฟ้าโตขึ้นร้อยละ 1-2 ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจ

 

ส่วนในปี 2558 ตามแผนจะต้องนำเข้ารวม 5 ล้านตัน โดย 2 ล้านตันเป็นการนำเข้าจากกาตาร์ตามสัญญาการซื้อระยะยาว ส่วนอีก 3 ล้านตันเป็นตลาดจร ยอมรับราคาตลาดจรในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู นับเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาสัญญาระยะยาว แต่คลังรับแอลเอ็นจีก็ไม่สามารถกักเก็บแอลเอ็นจีไว้ใช้ได้นานเหมือนน้ำมัน ดังนั้น ต้นทุนการใช้ก๊าซฯ จึงจะสะท้อนราคาต้นทุนในช่วงการใช้เป็นสำคัญ และสาเหตุที่ราคาตลาดจรลดลง มาจากการผลิตเชลล์ก๊าซฯ จากหินดินดานของสหรัฐฯ การที่ญี่ปุ่นเริ่มทยอยกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการที่เศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตตามที่คาดการณ์

 

นายภาณุ กล่าวด้วยว่า การลงทุนสร้างสถานีรับแอลเอ็นจีระยะที่ 3 จะสร้างเมื่อใด ใช้พื้นที่ใด ต้องรอความชัดเจนจากการทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็จำเป็นต้องสร้าง แม้ในอนาคตจะจำกัดเรื่องการเติบโตของการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า เพราะต้องนำเข้ามาทดแทนก๊าซฯ ในประเทศที่มีปริมาณลดลง และยังรองรับในส่วนของโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ อีก 5,000 เมกะวัตต์ ที่ใช้ก๊าซฯ ทั้งหมดอีกด้วย

 

ที่มา : แนวหน้า