ENERGY

ปตท.สผ. เร่งเจรจาซื้อขาย LNG ในแหล่ง Cove ที่โมซัมบิก
POSTED ON 10/09/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายอัษฎากร ลิ้มปิติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลุทธ์ และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงทุนในแหล่ง Cove Energy ที่โมซัมบิก ว่าสามารถเจรจาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นสัญญาระยะยาวได้ประมาณ 5.4 ล้านตันต่อปี

 

โดยขณะนี้กำลังเจรจากับนักลงทุนจากอินเดีย เพื่อทำสัญญาซื้อขายเพิ่มเติมเพื่อให้ครบปริมาณที่ได้วางไว้ว่า จะทำสัญญาระยะยาว LNG ให้ถึงประมาณ 10 ล้านตันต่อปี เพื่อที่จะส่งออก LNG จากแหล่งนี้ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2019 ซึ่งแหล่ง Cove Energy เป็นแหล่งที่มีศักยภาพด้านก๊าซธรรมชาติมาก

          

สำหรับสัญญาระยะยาวที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายแล้ว 5.4 ล้านตัน ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปริมาณ 2.625 ล้านตัน CNOOC ประมาณ 2 ล้านตัน และที่เหลือเป็น บ.ญี่ปุ่น เมื่อได้สัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวแล้ว ก็จะมีการตัดสินใจวางแผนการลงทุนผลิต LNG จากแหล่งนี้ โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิต LNG ขึ้น โดยในส่วนของ ปตท.สผ. ที่ถือหุ้นอยู่ 8.5% คาดว่าจะต้องมีการลงทุนในแหล่งนี้ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

            

ส่วนการลงทุนในประเทศเมียนมาร์ ปตท.สผ.ได้ลงทุนในเมียนมาร์เป็นเวลาถึง 25 ปีแล้ว ก็ยังเดินหน้าในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 12 กันยายน 2557 นี้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเดินทางไปเยือนเมียนมาร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และเจรจาร่วมมือในการลงทุนด้านพลังงานร่วมกันด้วย

           

ปัจจุบัน ปตท.ลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในเมียนมาร์ จำนวน 12 แหล่ง โดยแหล่งที่สำรวจและผลิตแล้ว อาทิ แหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า หรือ M9 ซึ่งในส่วนของ M9 ได้ส่งก๊าซฯ เข้ามาไทย 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 270 ล้านลุกบาศก์ฟุตต่อวัน หากมีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่แหล่งบนบกมี 3 แหล่ง ได้แก่ EP2, MOGE3 และ PSGC ซึ่งในแหล่ง PSGC ได้มีการขุดหลุมทดสอบศักยภาพแล้ว พบว่า มีความสามารถอาจผลิตก๊าซฯ ได้

            

ขณะที่แหล่งในทะเล M3 มีศักยภาพด้านก๊าซฯ โดยพบว่าเป็นก๊าซเปียก ซึ่งมีสารประกอบนำมาผลิตปิโตรเคมีได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินปริมาณก๊าซฯ ที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในปลายปีนี้ สำหรับแหล่งนี้จะผลิตเพื่อจ่ายเข้าเมียนมาร์ทั้งหมด และอาจจะมีโครงการต่อเนื่อง คือ โรงแยกก๊าซฯ และโรงงานปิโตรเคมี หากปริมาณสำรองมามาก สำหรับแหล่งนี้เป็นแหล่งในทะเลน้ำตื้น อยู่ด้านใต้ของเมืองย่างกุ้ง

          

ส่วนแหล่งน้ำลึก MD7, MD8 และ M11 จะลงทุนสำรวจหรือไม่นั้น จะต้องศึกษาศักยภาพที่ชัดเจนก่อน เพราหากลงทุนต้องมีต้นทุนสูง 100 ล้านเหรียญต่อหลุม เทียบกับแหล่งน้ำมันอื่น 10 ล้านเหรียญต่อหลุม

            

สำหรับการลงทุนในออสเตรเลียขณะนี่แหล่งมอนทาร่าได้ผลิตน้ำมันดิบได้ 25,000 บาร์เรลต่อวัน แล้ว ส่วนแหล่ง Cash & Maple มีปริมาณสำรองที่พบแล้วประมาณ 3.1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่หากจะทำ Floating LNG (FLNG) หรือการผลิต LNG ในเรือ จะมีต้นทุนสูง หากพิจารณาราคาขาย LNG แล้ว ราคาไม่คุ้มทุนก็อาจจะเปลี่ยนแผนการขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านแทน หรือต่อท่อส่งก๊าซฯ ไปที่ดาว์วินแทน ซึ่งพื้นที่นั้นมีโรงงาน LNG อยู่