ENERGY

กพช. เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม เอกรัฐฯ เล็งยื่นผลิตเอง 20MW
POSTED ON 09/09/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - ดร.วิวัฒน์ แสงเทียน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐโซลาร์ จำกัด เปิดเผยว่า เตรียมยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ส่วนที่เหลือ 576 เมกะวัตต์ จากเป้าเดิม 2,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ที่พักอาศัยไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ 69.36 เมกะวัตต์ เพื่อให้ครบเป้าหมายที่ 200 เมกะวัตต์ และโซลาร์เซลล์ชุมชน ในหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ขนาดไม่เกิน5 เมกะวัตต์/แห่ง รวม 800 เมกะวัตต์ ตั้งเป้ายื่นเสนอโครงการที่ 10-20 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และอาจหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

 

เบื้องต้นเตรียมพื้นที่รองรับ การติดตั้งใน อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 100 ไร่ และบริเวณอื่นที่เหมาะสม เช่น ต้องอยู่ในระบบที่สายส่งรองรับกำลังผลิตใหม่ได้ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะต้องเร่งทำความชัดเจนในการออกประกาศอย่างเป็นทางการในการรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไปดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

 

"ต้นทุนของโซลาร์เซลล์ขณะนี้ลดลงอยู่ ที่ 60 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ต่างจากเดิมต้นทุนสูง 80-100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวต่อเนื่อง และภาครัฐควรจูงใจด้วยราคาเพราะล่าสุดได้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Fit (Feed in Tariff) ที่จะได้ค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดสัญญา 25 ปีที่ 6.85 บาท/หน่วย สำหรับบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 10 กิโลวัตต์การลงทุน 500,000 บาท แต่จะมีรายได้จากการขายไฟเพียง 40,000 บาท/ปีเท่านั้น จึงอาจมีคนสนใจลงทุนน้อย" ดร.วิวัฒน์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ดร.วิวัฒน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในเร็วๆ นี้บริษัทฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้พิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ในประเทศใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) ให้ปรับอัตรา Fit โซลาร์เซลล์ สำหรับบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นเป็น 8 บาท/หน่วย (จากเดิมที่ 6.85 บาท/หน่วย) (2) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่นำเข้าจากต่างประเทศที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน เช่น อุปกรณ์ Inverter (3) แก้ไขปัญหาผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ห้ามโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัย และ (4) ขอให้ส่งเสริมการใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตขึ้นได้ในประเทศ

 

สำหรับโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัท เอกรัฐโซลาร์ ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถผลิตได้ 15 เมกะวัตต์/ปี โดยจะเดินเครื่องผลิตตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก ล่าสุดโรงงานหยุดเดินเครื่องประมาณ 3-4 เดือนเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่มเติม

 

ส่วนการเตรียมขายโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์นั้นได้ตัดสินใจยกเลิกแล้ว ภายหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่เคยสูงถึง 2,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้เหลือหนี้เพียง 400 ล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้น จะปรับเปลี่ยนแนวทางให้พันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท เอกรัฐโซลาร์ โดยล่าสุดเริ่มมีนักลงทุนจากจีนเข้ามาเจรจาบ้างแล้ว

 

รายงานข่าวเพิ่มเติมสำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Fit ในปี 2557-2558 แบ่งเป็น (1) แบบติดตั้งบนพื้นดิน (ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์)5.66 บาท/หน่วย (2) แบบติดตั้งบนหลังคา(บ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 10 กิโลวัตต์)6.85 บาท/หน่วย (3) แบบติดตั้งบนหลังคา (อาคารธุรกิจ/โรงงาน ตั้งแต่ 10-250 กิโลวัตต์) 6.40 บาท/หน่วย (4) แบบติดตั้งบนหลังคา (อาคารธุรกิจ/โรงงาน มากกว่า 250-1,000 กิโลวัตต์) 6.01 บาท/หน่วย (5) แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร 5.66 บาท/หน่วย ทั้งนี้ โครงการทุกรูปแบบมีระยะเวลาในการสนับสนุน 25 ปี