ENERGY

สภาอุตฯ ชี้ แผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์ 21 ปี เกิดยาก
POSTED ON 26/08/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - สมาคมเซลล์แสงอาทิตย์ฯ เตรียมยื่นแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์ระยะยาว 21 ปี กับ คสช. เน้นการติดตั้งแบบโซลาร์รูฟท็อปตั้งเป้า 2 หมื่นเมกะวัตต์ ยันกระทบกับค่าไฟเพียงเล็กน้อย จากต้นทุนที่มีแนวโน้มลดลง เชื่อช่วยเสริมระบบความมั่นคงได้ ขณะที่ ส.อ.ท. เผยเป็นไปได้ยาก เหตุราคาพลังงานมีความผันผวน อุปกรณ์ในประเทศมีจำกัด เตรียมชง คสช. หาทางออก

 

นายดุสิต เครืองาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมยื่นแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ระยะยาว 21 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2558-2579 (พีดีพี 2015) ต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในปลายเดือนสิงหาคม 2557 นี้ ซึ่งจากการประชุมร่วมกันกับสมาชิกกว่า 100 บริษัท ต่างเห็นชอบที่จะให้มีแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์ระยะยาว รวมกำลังการผลิตประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเฉลี่ย 1 พันเมกะวัตต์ต่อปี เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ถูกจำกัดจากการปิดรับซื้อไฟฟ้ามาหลายปีแล้ว

 

โดยในแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์ดังกล่าวจะเน้นความมั่นคงของโซลาร์เซลล์ระยะยาว และจะทำอย่างไรให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เป็นพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 60 ล้านบาทต่อหน่วย ลดลงกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ 70 ล้านบาทต่อหน่วย และในอนาคตจะมีแนวโน้มลดลงอีก

 

ทั้งนี้ การให้ราคาส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) โครงการโซลาร์ฟาร์มจะหมดอายุสัญญาภายในปี 2557-2558 ส่วนการให้ราคารับซื้อไฟฟ้าตามต้นจริง (ฟีดอินทาริฟ) ของโครงการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาและอาคาร (โซลาร์รูฟท็อป) ก็ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้วในอัตรา 6-6.85 บาทต่อหน่วย จากจำนวนที่รับซื้อ 200 เมกะวัตต์ 

 

ดังนั้น ตามแผนส่งเสริมระยะยาวฉบับนี้ จะเน้นการขายไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่เป็นรูปแบบของการติดตั้งเพื่อใช้ในบ้านหรืออาคารก่อน ที่เหลือจะขายเข้าระบบ ขณะที่ราคาขายก็ไม่สูงมากนัก จนเป็นภาระต่อค่าเอฟที ซึ่งเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะบูรณาการทุกฝ่าย และช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศได้และเชื่อว่าจะกระทบต่อค่าเอฟทีเป็นระดับสตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น

 

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ทำแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์ระยะยาว 21 ปี ส่วนตัวแล้วมองว่าอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้นทุนพลังงานทดแทนมีความผันผวนทุกปี ขณะเดียวกันกำลังการผลิตแผงเซลล์จากโรงงานในประเทศไทยมีกำลังการผลิตรวมกัน 3 โรงงาน เพียงกว่า 100 เมกะวัตต์ต่อปีเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด

 

ส่วนการผลักดันนั้น ทาง ส.อ.ท.จะเสนอให้ คสช.พิจารณาโครงการโซลาร์เซลล์ที่ยังค้างท่ออยู่ตามแผนส่งเสริมเดิม ซึ่งเป็นโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้ารวมประมาณ 1.5 พันเมกะวัตต์ แบ่งเป็น (1) โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ยังไม่คืบหน้า 100 เมกะวัตต์ (2) โครงการโซลาร์ชุมชนที่คืนรัฐไปแล้ว 800 เมกะวัตต์ และ (3) โครงการที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องอีก 600-700 เมกะวัตต์ เพราะกว่าโครงการจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี รวมถึงการเสนอปรับปรุงฟีดอินทารีฟของพลังงานทดแทนทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ก๊าซชีวภาพ ชีวมวลและขยะ คาดว่าจะเสนอได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2557 นี้