ENERGY

ส.อ.ท. เสนอ ก.พลังงาน กระจายเชื้อเพลิง ลดพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ
POSTED ON 25/08/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารเข้าพบ "นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม" ปลัดกระทรวงพลังงาน ว่า ได้มีการหารือเรื่องทิศทางพลังงาน โดย ส.อ.ท.เสนอว่าประเทศไทยควรกระจายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม คำนึงถึงความมั่นคงและต้นทุน โดยการจัดทำแผนกำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) 20 ปี ควรจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 70% แล้วใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ เช่น ถ่านหินสะอาดเพิ่มขึ้น เพราะการพึ่งพาก๊าซจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซจะกระทบต่อกำลังผลิตของประเทศ

 

ขณะเดียวกัน จากการที่รัฐบาลจะมุ่งเน้นพลังงานทดแทน ทาง ส.อ.ท.เห็นด้วย แต่ควรจัดเรียงลำดับการส่งเสริมและอุดหนุนราคา ไม่ว่าจะเป็นแอดเดอร์หรือ FIT ไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มากเกินไป โดยควรเรียงลำดับจากต้นทุนที่ต่ำไปสูงคือไบโอแก๊ส (ชีวภาพ), ไบโอแมส (ชีวมวล), ขยะ, ลม และแสงอาทิตย์

 

ทาง ส.อ.ท.เสนอให้กระทรวงฯ ร่วมกับ ส.อ.ท. ในการจัดทำโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ในภาคเอกชนเป็นแผน 3 ปีต่อเนื่อง (2559-2561) ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง โดยทั้ง ส.อ.ท.และกระทรวงพลังงานจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในการเดินหน้าด้านพลังงาน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพีดีพี 20 ปี (2559-2579) ควบคู่กับปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ซึ่งกระทรวงฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนปลายเดือน ส.ค.นี้

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงการใช้พลังงานของประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาเชื้อเพลิง รวมทั้งก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้พลังงานทดแทน แม้จะเริ่มขยายตัวแต่เป็นไปอย่างช้าๆ จึงเห็นว่า หากในอนาคตไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานทั้งหมดจะทำให้ไทยสูญเสียเม็ดเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของจีดีพี เสมือนว่าไทยนำเงินจากการขายข้าวไปแลกซื้อน้ำมันราคาแพง ซึ่งถือว่าภาวะวิกฤติด้านพลังงานคืบใกล้มากขึ้นทุกวัน