ENERGY

พลังงาน หารือ ก.คลัง กรณีแยกธุรกิจท่อก๊าซ ปตท.
POSTED ON 22/08/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้หารือกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อสร้างความชัดเจนกรณีการเข้าถือหุ้นในธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติ ภายหลังจากที่  บมจ.ปตท.ดำเนินการแยกธุรกิจท่อก๊าซเสร็จตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้ ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซออกมาเพื่อลดปัญหาการผูกขาดธุรกิจท่อก๊าซ และช่วยให้การบริหารท่อก๊าซชัดเจนขึ้น โดยเบื้องต้นจะให้ ปตท.ถือหุ้น 100% ไปก่อน จากนั้นจะให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นร่วม

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสังคม กรณีการเข้าถือหุ้นธุรกิจท่อก๊าซ โดยกระทรวงคลังจะเข้าไปถือหุ้นอย่างน้อย 25% ในธุรกิจท่อส่งก๊าซ ซึ่งจะพิจารณาว่าจะใช้เงินจากกองทุนวายุภักษ์ หรือถือหุ้นผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราฟันด์) และยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปธุรกิจท่อก๊าซเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แน่นอน เป็นเพียงการแยกทรัพย์สินให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น และเปิดให้ผู้ประกอบการอื่นๆ สามารถเข้ามาใช้ท่อก๊าซได้ ลดปัญหาการผูกขาดธุรกิจท่อก๊าซลง

 

“การแยกธุรกิจท่อก๊าซออกมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาค่าใช้บริการผ่านท่อก๊าซ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเรเตอร์ กำหนดราคาค่าผ่านท่อไว้ประมาณ 21.76 บาทต่อล้านบีทียู และในอนาคตก็ยังเป็นผู้ดูแลราคาค่าผ่านท่อ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อราคาก๊าซในอนาคตให้ถูกลงได้ เมื่อปล่อยให้เกิดการแข่งขันธุรกิจท่อก๊าซขึ้น” นายอารีพงศ์ กล่าว  

 

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะมีการหารือรายละเอียดในการเข้าไปถือหุ้นอีกครั้ง โดยเบื้องต้นอาจให้กองทุนวายุภักษ์เข้าไปดำเนินการซื้อหุ้นตามสัดส่วนดังกล่าว แต่ก็ต้องมาดูเงินงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการด้วยว่า ควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ และมาจากแหล่งไหน คงต้องรอการประชุมผู้ถือหุ้นของกองทุนวายุภักษ์พิจารณาเรื่องนี้ด้วย ปัจจุบันกระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นอยู่ใน ปตท.แล้วกว่า 51% และกองทุนวายุภักษ์อีก 14% รวมเป็น 65% ซึ่งมีน้ำหนักและอำนาจในการถ่วงดุลการบริหารงานอย่างเพียงพอ

 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตจาก นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน เรื่องการส่งมอบท่อก๊าซและที่ดิน ที่ใช้ดำเนินการให้กับกรมธนารักษ์ไม่ครบนั้น ได้มีการตรวจสอบข้อมูลกับกรมธนารักษ์ ยืนยันว่า ปตท.ได้ดำเนินการคืนท่อก๊าซดังกล่าว ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นท่อก๊าซและอุปกรณ์ต่างๆ 1.4 หมื่นล้านบาท และที่ดินกว่า 106 แปลง คิดเป็น 32 ไร่ มูลค่า 1 พันล้านบาท ให้กับกรมธนารักษ์ตั้งแต่ปี 2551 และได้มีการรายงานให้ศาลปกครองรับทราบแล้ว ส่วนก๊าซในทะเลนั้น ได้มีข้อยุติแล้วว่า ปตท.ไม่จำเป็นต้องส่งคืนให้กับกรมธนารักษ์ เพราะเป็นส่วนที่ ปตท.จัดหามาเอง จึงถือเป็นสมบัติของ ปตท.

 

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปรวบรวมข้อมูลบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจ (รสก.) ที่ตั้งขึ้นมาถึง 300 แห่ง และบางแห่งมีการลงทุนในต่างประเทศว่ามีสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศหรือไม่ เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการกำกับดูแลให้การดำเนินการเกิดประโยชน์มากที่สุด