ENERGY

ผู้ว่า กฟภ. ชี้ FiT ทำนักลงทุนสนใจผลิตโซลาร์ฟาร์มลดลง
POSTED ON 19/08/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติกำหนดเส้นตายให้นักลงทุนที่ยื่นขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์ม) ไว้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ ตั้งแต่ปี 2552-2553 ให้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบให้เสร็จภายในปี 2558 นั้น เชื่อว่าจะมีนักลงทุนดำเนินการผลิตจริงเพียง 500 เมกะวัตต์ จากที่ยื่นขอผลิตไว้แต่ยังไม่ดำเนินการ (ค้างท่อ) อยู่ทั้งสิ้น 1,054 เมกะวัตต์

 

ทั้งนี้ เนื่องจาก กพช.ที่ผ่านมามีมติให้ปรับระบบเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ จากระบบเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ adder มาเป็นเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ FiT (Feed in-Tariff) ซึ่ง FiT กำหนดให้เงินสนับสนุนผู้ผลิตโซลาร์ฟาร์มเพียง 5.66 บาทต่อหน่วย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ adder จะให้ 6.50 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฐานอีกกว่า 3 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ระบบ FiT ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มได้รับเงินสนับสนุนน้อยลง และนักลงทุนอาจสนใจผลิตโซลาร์ฟาร์มเข้ามาจริงแค่ 500 เมกะวัตต์เท่านั้น

 

นอกจากนี้ กพช.ยังมีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพิ่มให้ครบตามเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงกำหนดสิ้นปี 2558 ตามมติ กพช. ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ นั้น ทาง กพช.ได้เปลี่ยนไปให้กลุ่มราชการและสหกรณ์เพื่อการเกษตร ดำเนินการแทนกองทุนหมู่บ้านที่ติดปัญหาด้านการเงินและระเบียบต่างๆ มากมาย 

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กพช.อยู่ระหว่างการจัดการกับคำขอผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ต่างๆ ที่ยังค้างอยู่และยังไม่ผลิตไฟฟ้าตามแผนให้เสร็จในปี 2558 และเชื่อว่าภาครัฐอาจเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์และโซลาร์รูฟท็อปอาจเปิดรับได้อีก 200 เมกะวัตต์ แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 25% ในปี 2564