ENERGY

ธพ. คาด ใช้งบกว่า 2 หมื่นล้านบาท สร้างท่อส่งน้ำมันในไทย
POSTED ON 19/08/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - แหล่งข่าวพลังงานเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสร้างท่อส่งน้ำมันในไทยว่า ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแนวท่อส่งน้ำมันในหลายจังหวัดที่ท่อส่งน้ำมันจะพาดผ่าน โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ โครงการสร้างท่อส่งน้ำมันจะเริ่มต้นจากชลบุรี เข้าจังหวัดระยอง และแยกเป็น 2 สาย คือ สายที่ 1 สายภาคเหนือ โดยท่อน้ำมันจะพาดผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก และสิ้นสุด จ.ลำปาง และสายที่ 2 จากจังหวัดระยอง พาดผ่านไปยังจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว กรมจะทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อไป

 

สำหรับโครงการท่อส่งน้ำมันดังกล่าว แม้ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะมอบหมายให้ใครดำเนินการ ระหว่างภาครัฐลงทุนเองหรือเอกชนลงทุนทั้งหมด หรือภาครัฐร่วมกับเอกชนลงทุน แต่ท่อส่งน้ำมันเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธุรกิจพลังงาน ดังนั้น กรมสามารถดำเนินขั้นตอนหรือกระบวนการเบื้องต้นเพื่อสร้างท่อส่งน้ำมันในประเทศไทยได้

 

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการสร้างท่อส่งน้ำมันนั้น หลังจากผ่านอีไอเอแล้ว คาดว่าตลอดปี 2558 จะต้องออกแบบรายละเอียดการวางท่อส่งน้ำมันทั้งสองเส้นทาง และหากรัฐบาลกำหนดให้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเอง ทางกรมจะเริ่มเปิดประกวดราคาก่อสร้างท่อส่งน้ำมันได้ประมาณปี 2559 ดังนั้น คาดว่าท่อส่งน้ำมันจะเริ่มสร้างและวางท่อได้จริงประมาณปี 2560 และดำเนินการได้เสร็จอย่างเร็วสุดประมาณปี 2561

 

สำหรับโครงการท่อส่งน้ำมันของไทย ปัจจุบันมีภาคเอกชนไม่ต่ำกว่า 3 ราย ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวอยู่ ได้แก่ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (บาฟส์) รวมทั้ง บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขณะที่กรมธุรกิจพลังงานได้ทำการศึกษาไว้เช่นกัน โดยผลการศึกษาคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

 

แหล่งข่าวพลังงานกล่าวว่า การเลือกให้ใครเป็นผู้ดำเนินการลงทุนโครงการท่อส่งน้ำมันนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาด้วยว่า การลงทุนรูปแบบใดจะเหมาะสมที่สุด ระหว่างภาครัฐลงทุนเอง หรือเอกชนลงทุนทั้งหมด หรือร่วมกันลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่เชื่อว่าแนวทางที่เป็นไปได้ยาก คือ การให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้ลงทุน เนื่องจากต้องเปิดเป็นสัมปทานและภาคเอกชนอาจไม่สนใจเพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่ต้องวางท่อน้ำมัน และคุ้มทุนได้ช้า

 

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเลือกให้ภาคเอกชนลงทุนร่วมกันหลายราย เชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากระบบสัมปทานโครงการท่อส่งน้ำมัน จะช่วยให้ภาครัฐควบคุมราคาจำหน่ายทั่วประเทศให้เป็นราคาเดียวกันได้ โดยเบื้องต้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ ซึ่งมี นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย เป็นประธาน จะมีหน้าที่เข้ามาควบคุมราคา ไม่ให้เจ้าของท่อน้ำมันค้ากำไรเกินควร และให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป