ENERGY

กฟผ. ทุ่ม 5 พันล้านบาท ลุยโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน 3 เฟส 12 เขื่อน
POSTED ON 15/08/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายวิบูลย์ พงศ์เทพูปถัมภ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ รวมทั้งหมด 12 เขื่อน และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการระยะต่อไปอีก 25 โครงการในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของต้นทุนในการดำเนินโครงการ

 

สำหรับโครงการที่พัฒนาแล้วในระยะที่ 1 มีทั้งหมดรวม 6 เขื่อน กำลังการผลิต 78.7 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,486 ล้านบาท ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท, เขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี, เขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก โดยโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างทดสอบระบบ ยกเว้นเพียงเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างและคืบหน้าเพียงร้อยละ 81.66 เท่านั้น

 

ทั้ง 6 โครงการดังกล่าวได้ลงนามความร่วมมือกับกรมชลประทานไปตั้งแต่เมื่อปี 2550 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น

 

กฟผ.ยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการระยะที่ 2 รวม 2 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ รวมมูลค่า 837 ล้านบาท ได้แก่ (1) เขื่อนคลองตรอน จ.อุตรดิตถ์ และ (2) เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง ขนาดกำลังผลิตรวม 8 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่แล้วจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากต้องรอกระทรวงอุตสาหกรรมแก้ไขกฎกระทรวงสำหรับประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้แล้วเสร็จก่อน

 

โดยตามขั้นตอนที่วางแผนไว้จะต้องขออนุมัติเงื่อนไขการประกวดราคาผู้รับเหมาก่อสร้าง (TOR) ภายในเดือนกันยายน 2557 ในขณะที่เขื่อนกิ่วคอหมาอยู่ระหว่างการออกแบบและเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ ได้ยื่นขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางแล้ว

 

"เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมชลประทาน กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม มีทั้งเรื่องกรอบกฎหมายและใบอนุญาตเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การพัฒนาโครงการล่าช้า รวมถึงในเชิงเทคนิคการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนหากระดับน้ำไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้ อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ต้องรอทดสอบระบบในช่วงที่เขื่อนมีระดับน้ำมากพอในประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2557" นายวิบูลย์ กล่าว

 

หากมีความชัดเจนในการแก้ไขกฎกระทรวงสำหรับประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะส่งผลให้ กฟผ.สามารถพัฒนาโครงการในระยะ 3 ที่ได้ศึกษาความเหมาะสมไว้

 

ตามแผนโครงการระยะ 3 มีทั้งหมด 4 โครงการ คือ เขื่อนผาจุก จ.อุตรดิตถ์, เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์, เขื่อนธาตุน้อย จ.อุบลราชธานี, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา, เขื่อนพญาแมน จ.พิษณุโลก, เขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ, เขื่อนห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี, เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ได้ทันที

 

สำหรับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม มีต้นทุนอยู่ที่ 6-7 บาท/หน่วย ในขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายในระบบปกติอยู่ที่ประมาณ 3 บาทกว่า/หน่วย และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำยังไม่มีแนวโน้มจะปรับลดลง เนื่องจากขณะนี้มีเพียงบริษัทจากประเทศจีนเท่านั้นที่ผลิตเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นส่วนใหญ่ ตลาดเป็นของผู้ขาย แต่หากว่านโยบายของกระทรวงพลังงานชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทน กฟผ.ยังได้ศึกษาโครงการที่มีความเป็นไปได้อีกรวม 25 โครงการ เช่น เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนแม่สอง จ.แพร่ เขื่อนลำตะพิน จ.กาญจนบุรี เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา เป็นต้น