ENERGY

กฟน. เตรียมตั้งบริษัทลูก ขยายลงทุนต่างประเทศ
POSTED ON 05/08/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน.เตรียมจัดบริษัทลูกในนาม “เอ็มอีเอ เอนเนอร์จี โซลูชั่น” (MEA Energy Solution) เพื่อรองรับการลงทุนในต่างประเทศด้านธุรกิจประหยัดพลังงาน เบื้องต้นกำหนดทุนจดทะเบียนไว้ที่ 100 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายเพิ่มทุนจดทะเบียนให้ได้ 200 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

 

ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทลูกดังกล่าวจะดำเนินการพร้อมกับการปลดล็อก พ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้ กฟน.ทำธุรกิจได้เพียงการจำหน่ายไฟฟ้าและธุรกิจต่อเนื่อง เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งทำให้ไม่สามารถขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ได้เสนอเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว และเชื่อว่าหากมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะทำให้การปลดล็อกรวดเร็วขึ้นได้ และทำให้บริษัทลูกสามารถเข้าไปรับงานด้านปรึกษาระบบจัดการพลังงานทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ย.2557 กฟน.จะนำเรื่องการจัดตั้งบริษัทลูกเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กฟน.ด้วย

 

นอกจากนี้ กฟน.จะเสนอเรื่องเร่งด่วนเพิ่มเติมต่อ คสช. ได้แก่ การกำหนดรูปแบบการถือหุ้นในบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดให้เป็นรูปแบบเดียวกันว่า จะให้บริษัทแม่ถือหุ้น 100% หรือกำหนดสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อให้เป็นกฎระเบียบที่ชัดเจนเหมือนกันในการลงทุนในอนาคต จากนั้นรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะได้นำไปกำหนดแผนการลงทุนต่อไป ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด)

 

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ยอดขายไฟฟ้า กฟน. ครึ่งแรกปี 2557 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 24,000 ล้านหน่วย ลดลง 3% คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านหน่วย กำไรสุทธิประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย จากปัจจัยจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าอัตราการการใช้ไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีหลังจะสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ประมาณ 0% ในขณะที่ปีก่อนติดลบที่ 2%

 

นอกจากนี้ รายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายยังมาจากเหตุผลที่ไม่สามารถขยายการลงทุนตามแผนที่เตรียมไว้ คือจะใช้เงินในปีนี้ที่ 57,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการ กฟน. (บอร์ด) ในช่วงที่ผ่านมา และต้องรอให้บอร์ดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเร็วๆ นี้เข้ามาพิจารณาการโครงการลงทุนต่อไป รวมถึง กฟน.ยังอยู่ในระหว่างผลักดันให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงใหม่ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดในการลงทุนด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ยังไม่มีการพิจารณา

 

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อมั่นว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจจะเริ่มกลับมา ห้างสรรพสินค้า และโรงแรม นอกจากนี้ กฟน.ต้องการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในการลงทุนเพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้เพิ่มเติมเพื่อรองรับ AEC อีกทั้งยังต้องการที่จะผลักดันการลงทุนในโครงการท่อร้อยสายใต้ดิน โดยการสร้างอุโมงค์เพื่อนำสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และประปาลงใต้ดิน ซึ่งเห็นว่า กทม.น่าจะเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากเป็นเจ้าของพื้นที่ ส่วนใครจะเป็นผู้ลงทุนค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ ที่มีผู้สนใจเสนอโครงการเข้ามานั้น ล่าสุดผ่านการพิจารณาให้สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้วประมาณ 43 เมกะวัตต์