ENERGY

?เอ็กโก? ส่อวืด หลัง ก.พลังงาน เล็งไม่ต่ออายุโรงไฟฟ้าระยอง
POSTED ON 29/07/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก ได้พยายามยื่นเรื่องมายังหน่วยงานสังกัด กระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาขอต่ออายุโรงไฟฟ้าระยอง ขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ออกไปอีก 5 ปี เนื่องจากจะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 7 ธันวาคม 2557

 

ล่าสุดทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ฉบับใหม่ ได้ยื่นยันออกมาแล้วว่า จะไม่มีการบรรจุโรงไฟฟ้าระยองดังกล่าว เข้าอยู่ในแผนพีดีพีฉบับใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ เห็นว่าโรงไฟฟ้าระยอง เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องมาแล้ว 25 ปี ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าต่ำ หรือมีการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย ในปริมาณที่มากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าใหม่ หากต่อสัญญาออกไป จะส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และอาจจะเกิดผลเสียหายกับทางเอ็กโกเอง ในการดูแลบำรุงเครื่องยนต์หากไม่ได้รับการสั่งให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้า เพราะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าโรงไฟฟ้าอื่นๆ

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงไฟฟ้าระยองไม่มีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบอีกต่อไป เนื่องจากมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สามารถทดแทนได้จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กหรือเอสพีพี ที่ทยอยเข้าระบบมาตั้งแต่มีการเปิดประมูลตั้งแต่ปี 2550 จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ และกว่าจะเข้าระบบทั้งหมดจนถึงปี 2559 และการเปิดประมูลเอสพีพีในช่วงปี 2553 อีกจำนวน 1,500 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเข้าระบบจนถึงปี 2562 รวมกำลังการผลิต 3,500 เมกะวัตต์

 

รวมทั้งจะมีโรงไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ หรือ ไอพีพี จำนวนอีก 5,000 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเข้าระบบในช่วงปี 2564 มาเสริมอีก จึงมีปริมาณไฟฟ้าเพียงพอที่จะป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกได้อย่างไม่มีปัญหา จึงเป็นเหตุผลพอที่จะไม่ต่ออายุโรงไฟฟ้าระยองออกไปได้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทาง สนพ.จะพิจารณาการปลดโรงไฟฟ้าระยองออกจากระบบในปีนี้แล้วก็ตาม แต่ทางเอ็กโกยังมีความพยายามที่จะติดต่อทาง กฟผ.และกระทรวงพลังงาน เพื่อผลักดันจะให้มีการต่ออายุโรงไฟฟ้าระยองออกไปอีก โดยเฉพาะการขอต่ออายุในระยะสั้นออกไป 1 ปีก่อน เพื่อรองรับกรณีการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ทันในปีนี้ จะส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าหนองแซงและโรงไฟฟ้าอุทัย รวมกำลังผลิตประมาณ 1.6 พันเมกะวัตต์ ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทัน จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งโรงไฟฟ้าระยะองจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2558 แทน ซึ่งอาจจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่เฉลี่ยออกมาสูงขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วไป เพราะเป็นโรงไฟฟ้าเก่าทีมีอายุการใช้งานมานานถึง 20 ปีแล้ว