ENERGY

เล็งเสนอให้เอกชนเช่าท่อก๊าซ ปตท.เพิ่ม
POSTED ON 14/07/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ ได้เล็งให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาเช่าก๊าซของ ปตท. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ รวมไปถึงเพิ่มการแข่งขันให้กับตลาดค้าก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV ให้เพิ่มมากขึ้น

 

โดยการเปิดช่องทางให้เช่าท่อก๊าซของ ปตท. นั้น ถือว่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้สามารถเอกชนรายอื่นที่สนใจในการลงทุนเกี่ยวกับการขายก๊าซเข้ามาในระบบได้มากขึ้น เพราะหากมีการเปิดให้เช่าก็จะทำให้ผู้แข่งขันรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย แต่หากไม่มีการเปิดให้เช่าท่อก๊าซ และเป็นการลงทุนใหม่ในการเดินท่อก๊าซ ก็จะเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาลงทุนและแข่งขันได้ยากขึ้น

 

ขณะที่การดูแลอัตราค่าเช่านั้น ทาง สกพ. จะดูแลตามความเหมาะสม รวมไปถึงราคาต้องมีความสมเหตุสมผล ซึ่งคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2558 นี้ ขณะที่ในส่วนทาง ปตท. นั้น จะมีการแยกบริษัทท่อก๊าซออกมาเป็นเฉพาะเลยหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับทาง ปตท. เอง

 

ด้าน นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างร่างระเบียบเพื่อให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สถานีแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และคลังของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าจะสามารถเสนอร่างดังกล่าวให้กับทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ภายในสัปดาห์หน้าจากนั้นจะเสนอไปยัง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. พิจารณาอนุมัติต่อไป

 

ทั้งนี้ การร่างระเบียบขึ้นมาเพื่อต้องการใช้เป็นข้อบังคับ ที่มีผลทางกฎหมาย ในการลดการผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของ ปตท. และต้องการให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจนำเข้าก๊าซ จากปัจจุบันที่ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซเพียงรายเดียว แม้ว่าที่ผ่านมากฎหมายจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถลงทุนท่อก๊าซได้ แต่ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นลงทุนแข่งขันกับทาง ปตท. ทำให้ปัจจุบันมี ปตท.ที่ลงทุนท่อก๊าซเพียงรายเดียว ดังนั้น หากร่างระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าก๊าซ สามารถใช้ท่อส่งก๊าซ และสถานีรับ-จ่ายก๊าซของปตท.ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่จะคิดอัตราค่าผ่านท่อ 21.76 บาทต่อล้านบีทียู และค่าเช่าสถานีแปลงก๊าซก็มีอัตราค่าเช่าเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้เรกูเลเตอร์จะหารือกับ ปตท.ต่อไป

 

สำหรับประกาศระเบียบให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้ท่อก๊าซของ ปตท. ได้แล้ว จะรวมไปถึงโครงการท่อก๊าซ ที่จะมีการลงทุนเพิ่มในอนาคตด้วย โดยผู้ประกอบการที่สนใจ จะต้องหาลูกค้าเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ จากนั้นเมื่อนำเข้ามาแล้วจะต้องเสียค่าผ่านท่อและค่าเช่าสถานี ให้กับ ปตท. ต่อไป ส่วนข้อดีที่จะตามมาคือการแข่งขันในธุรกิจก๊าซเพราะมีผู้ประกอบการที่นำเข้าหลายราย สามารถเลือกซื้อก๊าซจากผู้ที่นำเข้าได้ในราคาถูกก่อน ไม่จำเป็นต้องพึ่ง ปตท.เพียงรายเดียว

 

ส่วนความคืบหน้าการแยกโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะธุรกิจท่อก๊าซจาก ปตท. ต้องรอนโยบายจากทาง กระทรวงพลังงาน เพื่อสั่งการและมอบอำนาจให้กับเรกูเลเตอร์กำกับดูแลต่อไป ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะต้องนำเสนอ กพช. พิจารณาก่อน

 

มีรายงานจาก กกพ. แจ้งว่า ในปัจจุบันนี้มีเพียง ปตท. รายเดียวที่ขายก๊าซธรรมชาติ หากร่างระเบียบการแข่งขันฯ ฉบับนี้แล้วเสร็จ จะเกิดผู้ค้าก๊าซฯ รายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในประเทศไทย สามารถใช้ระบบ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อ และคลังก๊าซแอลเอ็นจี ได้เทียบเท่ากับ ปตท.และผู้ซื้อโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเลือกใช้ก๊าซฯ จากท่อของบริษัทใดๆ ก็ได้ที่มีราคาถูก และให้บริการดีที่สุด สุดท้ายประชาชนทั่วประเทศก็จะได้ประโยชน์ ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม

 

สำหรับร่างระเบียบฯ ดังกล่าวนั้น จะกำหนดกฎกติกาให้ทุกรายจ่ายค่าผ่านท่อ และค่าเช่าคลังก๊าซแอลเอ็นจีในราคาเดียวกัน และเปิดให้ทุกบริษัทเข้ามาใช้ท่อ และคลังฯ ได้อย่างเสรี โดยปราศจากการกีดกัน โดยปัจจุบัน แผนการสร้างคลังแอลเอ็นจีสามารถเก็บแอลเอ็นจีได้ถึง 10 ตัน สามารถรองรับโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 10 โรง ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ในเดือน ก.ค.2556