ENERGY

กกพ. เตรียมเสนอ 5 เรื่อง ส่ง กพช. พิจารณา
POSTED ON 14/07/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งจะจัดการประชุมในเร็วๆ นี้ ทางเรกูเลเตอร์ได้เตรียมเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม 5 เรื่อง ได้แก่...

 

1. เสนอให้พิจารณาระเบียบใหม่ของเรกูเลเตอร์ ที่จะกำหนดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ เพื่อลดปัญหาการผูกขาดท่อก๊าซของ ปตท. และให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจก๊าซได้มากขึ้นในอนาคต 

 

2. เสนอ กพช.ให้ปรับโครงสร้างราคาค่าบริการท่อก๊าซใหม่ เนื่องจากหลักเกณฑ์ค่าผ่านท่อที่ใช้อยู่ คือราคา 21.7665 บาทต่อล้านบีทียู ใช้ตามนานตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งปัจจุบัน ต้นทุนและการลงทุนท่อก๊าซต่างเกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ สูตรการคำนวณเดิมยังส่งผลให้ราคาค่าผ่านท่อต้องปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

3. ขอให้ คสช.พิจารณาขยายการขายไฟฟ้าเข้าระบบ (ซีโอดี) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เนื่องจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปกำหนดให้ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือน ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายใบประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทำให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น เบื้องต้นเรกูเลเตอร์ได้แก้ปัญหาด้วยการออกประกาศให้คงสิทธิ์ผู้ร่วมโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้สามารถได้รับสิทธิ์ดังกล่าวไว้ก่อน

 

“เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างถูกต้องจะต้องขออนุมัติจาก กพช.ขยายซีโอดีดังกล่าว พร้อมกันนี้จะหารือถึงโควตาโซลาร์รูฟท็อปประเภทบ้านเรือนที่เหลืออีกประมาณ 50 เมกะวัตต์ ว่าจะเปิดเฟส 2 ให้บ้านเรือนที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลืออีก 50 เมกะวัตต์ ให้ครบตามเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์หรือไม่” นายดิเรกกล่าว

 

4. การขออนุมัติกรอบการคิดค่าไฟฟ้าฐานของประเทศใหม่ที่เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการกำหนดใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบเติมเงิน (พีเพดมิเตอร์) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบัตรเติมเงินมือถือ คือเมื่อเติมเงินก่อนแล้วจะได้ใช้ไฟฟ้าได้ตามจำนวนเงิน ซึ่งแนวทางดังกล่าวเหมาะสำหรับบ้านเรือน งานก่อสร้าง หรือร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่ไม่มีมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้นและมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย แต่ค่าไฟฟ้าจากมีอัตราแพงกว่าไฟฟ้าบ้านเรือนทั่วไปนิดหน่อย

 

5. การขออนุมัติใช้โครงการลดใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจแบบให้เงินชดเชย (ดีมานด์เรสปอนส์) ให้เป็นมาตรการถาวร กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินด้านไฟฟ้าขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ทันที รวมทั้งช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ไฟฟ้าในช่วงวิกฤติไฟฟ้าประเทศได้ด้วย

 

นายดิเรก กล่าวว่า เรกูเลเตอร์ได้จัดเตรียมทั้ง 5 เรื่องดังกล่าวเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ กพช.ในนัดแรกที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ เพื่อให้โครงการต่างๆ เดินหน้าให้เร็วที่สุด และช่วยพัฒนาระบบไฟฟ้าและพลังงานของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป