ENERGY

"ประจิน" มั่นใจไฟฟ้าภาคใต้ไม่ดับ เชื่อ มีมาตรการรับมืออย่างดี
POSTED ON 18/06/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์วิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ ที่โรงไฟฟ้าขนอม จ.สุราษฎร์ธานี พบมีมาตรการดูแลรับมือกับวิกฤติไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี และมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคใต้อย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากประเทศมาเลเซียที่ยืนยันจะช่วยขายไฟฟ้าให้กับไทยในช่วงวิกฤติ โดยมีสัญญาการส่งไฟฟ้าให้ไทยไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ต่อวัน ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2557 มาเลเซียได้ส่งไฟฟ้ามายังไทยแล้ว 140 เมะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่าจะเสริมระบบความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ได้แน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าได้ประมาท แม้จะเตรียมแผนไว้อย่างรัดกุมแล้วก็ตาม โดยต้องจัดเตรียมรถโมบาย หรือรถผลิตไฟฟ้าสำรองเคลื่อนที่ไว้ให้พร้อมยามฉุกเฉินทันที     

 

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้นำมาตรการลดใช้ไฟฟ้าตามความสมัครใจที่ภาคอุตสาหกรรมและโรงงานได้ลงชื่อเข้าร่วมโครงการมาใช้ทันที เมื่อพบว่าเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ถึงระดับ  2,170 เมกะวัตต์ เพื่อป้องกันไม่ให้ยอดการใช้ไฟฟ้าขึ้นถึงระดับ 2,300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดที่ภาคใต้ผลิตได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงปัญหาไฟฟ้าดับ โดยผู้ที่ยินยอมลดใช้ไฟฟ้าดังกล่าวจะได้ค่าตอบแทนการลดใช้ไฟฟ้าในอัตรา 4 บาทต่อหน่วย

 

นอกจากนี้ พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงกรณีที่ กฟผ.เสนอขอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด โดยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แต่เบื้องต้นควรต้องกลับไปสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาการสื่อสารกับชาวบ้านยังเข้าไม่ถึงระดับผู้นำชุมชนเพียงพอ 

 

ด้าน นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ข้อตกลงในการซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเฉพาะช่วงที่แหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ปิดซ่อม 28 วัน (13 มิ.ย. ถึง 10 ก.ค.2557) ในปริมาณวันละ150 เมกะวัตต์ แต่มาเลเซียมีความพร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าให้ไทยได้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2557 โดยราคาอยู่ที่หน่วยละ 8.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งในส่วนของการจ่ายไฟฟ้าในวันอื่นๆ นั้น ทางมาเลเซียจะกำหนดราคาขายเป็นวันขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยราคาสูงสุดคาดว่าจะอยู่ที่ 12.50 บาทต่อหน่วย

 

สำหรับการทำความเข้าใจการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในระยะยาวนั้น กฟผ.ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ซึ่งตามแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะมีโรงไฟฟ้ากระบี่ขนาด 800  เมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบในปี 2562 หลังจากนั้น กฟผ.จะมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 3 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์ ในปี 2565, 2568 และ 2571 ตามลำดับ

 

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ อนุมัติให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการลดใช้ไฟฟ้าอย่างสมัครใจ สามารถได้รับเงินจูงใจลดใช้ไฟฟ้าได้ 4 บาทต่อหน่วย และเริ่มใช้กับวิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ครั้งนี้ได้ทันที ซึ่ง กกพ.จะเลือกผู้สมัครร่วมโครงการตามลำดับให้ลดใช้ไฟฟ้าตามที่ กฟผ.ร้องขอ

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เปิดเผยว่า มาตรการการลดใช้ไฟฟ้าตามความสมัครใจ (ดีมานด์เรสปอนส์) ซึ่งเป็นนโยบายที่ทาง กกพ.นำมาใช้ในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) โดยจะจ่ายเงินให้กับเอกชนผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการในอัตรา 4 บาทต่อหน่วย เมื่อดำเนินการลดใช้ไฟฟ้าตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคร้องขอในช่วงวิกฤติ มาตรการดังกล่าวกำลังประสบปัญหาในการปฏิบัติ เกี่ยวกับวิธีการชดเชยเงิน และการเรียกลดใช้ไฟฟ้า ซึ่งทางเรกูเลเตอร์ รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) อยู่ในระหว่างการหารือ เพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่มาตรการดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนไม่ให้ความสนใจลดใช้ไฟฟ้า เพราะจะรอให้มีผลตอบแทนมากกว่า อีกทั้งหากสรุปวิธีการในทางปฏิบัติล่าช้า อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่พยายามลดใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้ แต่ไปวางแผนลดใช้ในช่วงที่มีการจ่ายเงินชดเชยตามโครงการ และอาจจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ในภาพรวมไม่ลดลง