ENERGY

เบรกโซลาร์เซลล์ชุมชน 800MW ส่อขัดระเบียบ ก.คลัง
POSTED ON 01/07/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - เมื่อเร็วๆ นี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ประกาศให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน รวมกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ตามนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับชุมชนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตพลังงานในรูปแบบกระจายศูนย์ (Distributed Generation : DG) ซึ่งมีแนวโน้มว่าโครงการดังกล่าวอาจจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ชุดใหม่อีกครั้ง เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดเก่า รวมถึงล่าสุดมีกระแสจากภาคเอกชนในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนว่า ควรทบทวนเงื่อนไขในโครงการดังกล่าวให้เหมาะสมมากขึ้น

 

โดยกำหนดรูปแบบการลงทุน เช่น ให้ชุมชนที่สนใจสามารถยื่นขอในแต่ละโครงการไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี มูลค่าลงทุน 58-60 ล้านบาท รวมเงินลงทุนจากโครงการนี้ 48,000 ล้านบาท และสามารถขอรับเงินกู้จากสถาบันการเงินของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยให้กองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนชุมชนเมืองตาม พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2547 เป็นเจ้าของโครงการ รวมถึงให้ กฟภ.และธนาคารออมสินสนับสนุนและพัฒนาโครงการจนสามารถขายไฟเข้าระบบได้ การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในพื้นที่เหมาะสม เทคโนโลยีต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด สำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นรูปแบบ Feed in Tariff (FIT) แบ่งเป็นปีที่ 1-3 ที่ 9.75 บาท/หน่วย ปีที่ 4-10 ที่ 6.50 บาท และปีที่ 11-12 ที่ 4.50 บาท/หน่วย ผลตอบแทนการลงทุนที่ (Poject.IRR) ที่ 13.6%

 

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือภายในเพื่อพิจารณาประกาศดังกล่าวของ กฟภ. และสรุปว่าควรให้มีการยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รวมถึงขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่าง TOR ฉบับใหม่ และควรให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้รับผิดชอบเชิญทุกฝ่ายร่วมเป็นกรรมการพิจารณา รวมถึงควรมีตัวแทนจาก ส.อ.ท. สภาหอการค้าไทย และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากโครงการพบว่ามีข้อกังวลใน 7 ประเด็น คือ

 

(1) โครงการนี้ลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณอีก 150,000 ล้านบาท ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในอนาคตหรือไม่

 

(2) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ มีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ผู้ขายเป็นภาคเอกชน อาจเข้าข่ายจัดหาของภาครัฐ ดังนั้นควรปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังหรือไม่

 

(3) บริษัทที่กองทุนตั้งขึ้นใหม่มีฐานะเป็นบริษัทเอกชน การที่รัฐบาลให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เงินกู้ 100% นั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังหรือไม่

 

(4) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กองทุนหมู่บ้าน รับทราบข้อมูลทั่วถึงหรือไม่

 

(5) หากโครงการไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลัง อาจถูกยกเลิกภายหลัง จะเกิดความเสียหายทั้งผู้จำหน่ายหรือผู้รับช่วงต่อโครงการหรือไม่

 

(6) ชุมชนในรายชื่อท้ายประกาศได้มีการเตรียมพื้นที่ และหากมีการใช้จ่ายล่วงหน้าไปแล้วเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย เนื่องจากมีผู้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปให้ข้อมูล ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

 

(7) อัตรา FIT (Feed in Tariff) ในโครงการนี้สูงกว่าโครงการโซลาร์รูฟท็อป โดยระบุผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ 15-16% ซึ่งระดับที่เอกชนพอใจอยู่ที่ 12% ฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ว่า IRR ส่วนต่าง 3% อาจจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้โครงการ คิดเป็นเงิน 15-20 ล้านบาท

 

เป็นโครงการที่ดี และเอกชนต้องการให้เกิดขึ้น แต่รายละเอียดโครงการต้องปรับให้สมเหตุสมผล เกิดการแข่งขัน กำลังผลิตสูงถึง 800 เมกะวัตต์ ก็ควรมีการจัดสรร เช่น แต่ละกลุ่มบริษัทไม่ควรเกิน 20 โครงการ และไม่ควรกำหนดว่าแต่ละโครงการต้องมีกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ควรขึ้นอยู่ที่ความพร้อม เช่น 500 กิโลวัตต์ ก็สามารถทำโครงการได้ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนจริงๆ

 

ล่าสุด นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ระงับโครงการนี้ไปก่อน เนื่องจากต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่แต่งตั้งใหม่ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งว่าจะให้เดินหน้าโครงการต่อ หรือควรมีการปรับแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไร สำหรับโครงการนี้เน้นการกระจายรายได้ให้ชุมชน จึงต้องกำหนดให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าโครงการอื่นๆ ซึ่งชุมชนที่เสนอโครงการจะเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟภ. ไม่ใช่เอกชน ในระหว่างพัฒนาโครงการ กฟภ.ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีให้ด้วย ส่วนแต่ละชุมชนจะเลือกเทคโนโลยีจากบริษัทรายใด ขึ้นอยู่กับการเจรจาทางธุรกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโครงการนี้อาจจะต้องปรับใน 2 ประเด็น คือ แหล่งเงินทุน และเจ้าของโครงการที่เดิมนั้นมีเพียงชุมชนถือหุ้น 100% นั้นอาจจะไม่มีความคล่องตัวในการลงทุน โดยอาจจะปรับให้เอกชนรวมถึง กฟภ.เข้ามาร่วมในโครงการได้ด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่ประกาศเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2557 ที่ผ่านมา มีชุมชนสนใจเข้าร่วมรวม 200 ชุมชน