ENERGY

AKR ร้อง คสช. คุมตลาดโซลาร์เซลล์ในประเทศ เหตุจีนถล่มตลาดหนัก
POSTED ON 30/06/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - แหล่งข่าวจากบริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR ผู้ผลิตหม้อแปลงและแผงโซลาร์เซลล์ เปิดเผยว่า AKR ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหอการค้าไทยถึงแนวทางปกป้องธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิจารณา โดยต้องการให้บีโอไอกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขอรับการสนับสนุนการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในประเทศจนเต็มกำลังการผลิตก่อนจึงจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศของ คสช.

 

หลังจากที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีมาตรการปกป้องธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศ จากที่เคยมีนโยบายส่งเสริมให้ลงทุน ส่งผลให้ บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก AKR ไม่สามารถแข่งขันกับแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกและคุณภาพต่ำจากจีนที่นำเข้าโดยไม่ต้องเสียภาษีได้ จนปัจจุบันโรงงานเอกรัฐโซลาร์เดินเครื่องผลิตเพียง 5% ของกำลังผลิตทั้งหมด 25 เมกะวัตต์ต่อปี

 

ขณะเดียวกัน AKR ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) ให้เลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในประเทศก่อน เพราะการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ กำหนดให้หน่วยงานราชการต้องซื้อสินค้าในประเทศก่อน หากผู้ผลิตสินค้าในประเทศประเภทนั้นได้การรับรองจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มากกว่า 3 ราย ซึ่งในขณะนี้มีผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศที่ผ่านมาตรฐานแล้ว 4 ราย ได้แก่ บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด, บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด และบริษัทญี่ปุ่นอีก 1 แห่ง

 

คาดว่าจะได้เห็นการใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน (โซลาร์ชุมชน) กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ที่พีอีเอพิจารณา

 

แผงโซลาร์เซลล์ของ AKR มีคุณภาพสูงกว่าจีนมาก หากเทียบต้นทุนการผลิตในแผงคุณภาพระดับเดียวกันจะสูงกว่าจีนเพียง 10% ต่อเมกะวัตต์ แต่เพราะรัฐบาลจีนมีการอุดหนุนราคาให้กับผู้ส่งออก และความเป็นจริงแผงโซลาร์เซลล์จากจีนมีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่ระบุไว้มาก เช่นแผ่นเซลล์ที่ระบุมีกำลังผลิต 200 วัตต์ สินค้าจากจีนจะผลิตจริงได้แค่ 170 วัตต์ ขณะที่แผ่นเซลล์ของ AKR ซึ่งผลิตมาตรฐานตามเยอรมนีจะมีประสิทธิภาพผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 194 วัตต์ต่อแผ่น แต่ผู้ซื้อแผงโซลาร์เซลล์จะไม่ทราบข้อมูลส่วนนี้

 

นอกจากนี้ ทาง AKR สนใจลงทุนโครงการโซลาร์ชุมชน ที่พีอีเอจะเสนอให้ คสช.พิจารณา โดยพีอีเอจะเสนอโครงสร้างทางการเงินใหม่ ด้วยการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน เพราะพ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนฯ ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)กองทุนไม่สามารถกู้เงินมาลงทุนได้ ธนาคารออมสินไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับกองทุน 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ได้

 

ตามเงื่อนไขเอกชนจะต้องจ่ายเงินก้อนแรกในสัดส่วน 5% ของเงินลงทุน หรือ 3 ล้านบาทให้กับกองทุน หลังจากนั้นต้องจ่ายค่าตอบแทน 5% ของรายได้ให้กองทุน ไปจนครบอายุสัญญา 25 ปี แล้วจึงมอบโครงการให้เป็นของชุมชน ทั้งนี้ ในการขายไฟฟ้า 3 ปีแรกในราคา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 9.75 บาทต่อหน่วย เอกชนมีรายได้ 7 แสนบาทต่อเดือน และสามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี

 

เบื้องต้นได้หารือกับธนาคารแห่งหนึ่ง AKR ไว้สนใจจะลงทุน 20 เมกะวัตต์ ใช้เงิน 1,200 ล้านบาท เป็นเงินกู้ 70% ที่เหลือลงเอง 30% ธนาคารพิจรณาผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR)12% ถือว่าคุ้มค่าและ AKR คาดว่าหากได้โซลาร์ชุมชนจะทำให้มีรายได้เพิ่ม1,000 ล้านบาท จากปี2557คาดว่าจะมีรายได้จากยอดขายหม้อแปลง 2,200 ล้านบาทหรือเติบโตเพิ่มขึ้น10% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีนักลงทุนชาวจีนที่เคยลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มก็สนใจที่จะมาลงทุนในโครงการโซลาร์ชุมชนเช่นกัน