ENERGY

ผู้ผลิตจีนแห่ซื้อแผงโซลาร์ไทย หลังสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี AD
POSTED ON 13/06/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) สินค้าแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ผลิตจากประเทศจีน และไต้หวัน ตามที่บริษัท Solar World AG ผู้ผลิตโซลาร์เซลล์สัญชาติเยอรมัน ยื่นฟ้องว่าผู้ผลิตโซลาร์เซลล์สัญชาติจีนทุ่มตลาด และพยายามหลบเลี่ยงภาษีด้วยการย้ายไปผลิตแผ่นโซลาร์เซลล์ในไต้หวันแทน ทางสหรัฐฯ จึงได้ประกาศเรียกเก็บเอดีจากบริษัท อู่ซี ซันเทค พาวเวอร์ (Wuxi Suntech Power) และอีก 5 บริษัทในเครืออยู่อัตราที่ 35.21% บริษัท Trina Solar 18.56% และผู้ผลิตรายอื่นจากจีนในอัตรา 26.89%

 

นายซามัวแอล จาง ผู้อำนวยการฝ่ายการขายภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และจีน บริษัท อู่ซี ซันเทค พาวเวอร์ (Suntech) ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่จากประเทศจีน เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการออกมาตรการ AD ครั้งนี้ ทำให้บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์สัญชาติจีนทั้งหมดไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาประกอบเป็นแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศจีนหรือไต้หวันแล้วส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้รัฐบาลอินเดียและยุโรปก็เริ่มจับตาผู้ผลิตจีน เพราะหวั่นเกรงว่าจะทุ่มตลาดและเริ่มจะใช้มาตรการ AD ด้วย

 

ทางซันเทคมองว่าคงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ จึงเตรียมปรับแผนการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นตั้งโรงงานนอกประเทศจีน 3-4 แห่ง ภายในปี 2559 โดยจะกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และแอฟริกา ขนาดกำลังการผลิตของทุกโรงงานรวมกันอยู่ที่ 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนและหลีกเลี่ยงมาตรการ AD ในประเทศผู้ซื้อ โดยซันเทคคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตทั่วโลกเป็น 3,500 เมกะวัตต์ต่อปี ในปี 2559 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตทั้งหมด 2,580 เมกะวัตต์ต่อปี มาจากโรงงานในประเทศจีน 3 แห่ง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ต่อปี และโรงงานในญี่ปุ่น 1 แห่ง กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ต่อปี

 

ทั้งนี้ ซันเทคมีแผนจะลงทุนตั้งโรงงานในอาเซียน ขนาดกำลังการผลิต 400-500 เมกะวัตต์ต่อปี กำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะลงทุนในประเทศใด ระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยจะพิจารณาจากความเหมาะสมทั้งด้านการเมือง นโยบาย ขนาดของประเทศ รวมถึงศักยภาพของพาร์ตเนอร์มากที่สุด ก่อนตัดสินใจลงทุนภายในครึ่งแรกของปี 2558

 

ด้าน นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์และให้บริการสำรวจ ออกแบบ และติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เปิดเผยว่า จากการหารือกับซันเทคได้ติดต่อขอซื้อแผงโซลาร์เซลล์จาก SOLAR เพื่อรองรับโครงการโซลาร์ฟาร์มในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นประมูล เพื่อเป็นผู้ออกแบบ/ก่อสร้าง/รับประกัน (Turnkey) ซึ่งน่าจะประกาศผลในช่วงปลายปี และมีโอกาสชนะสูง หากเจรจาได้ระดับราคาที่ดี คาดว่าจะมียอดขายให้บริษัทจีนได้ปริมาณ 30 เมกะวัตต์ในปีนี้

 

นางปัทมา กล่าวว่า "สาเหตุที่ต้องนำเข้าแผงโซลาร์จากไทยเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีเอดี แต่การนำเข้าแผงโซลาร์จากจีนหรือไต้หวันจะต้องเสียภาษีเอดีในอัตราตั้งแต่ 36-40% ส่วนการร่วมทุนระหว่างซันเทคกับ SOLAR คงเกิดยาก เพราะขนาดธุรกิจ ความซับซ้อนด้านเทคโนโลยี ขนาดการลงทุนแตกต่างกัน การร่วมลงทุนตั้งโรงงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์กับซันเทคไม่คุ้มค่า และอาจมีความยุ่งยากในการขอส่งเสริมการลงทุนด้วย จึงคงไม่มีการลงทุนตั้งโรงงานในไทยในช่วง 2-3 ปีนี้อย่างแน่นอน"

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากการประกาศมาตรการเอดีของสหรัฐยังส่งผลดีกับบริษัท เพราะมีผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากจีนขนาดใหญ่รายอื่นๆ อีก 5 บริษัท ติดต่อขอซื้อแผงโซลาร์เซลล์จาก SOLAR เพื่อรองรับการประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโครงการแต่ละแห่งมีขนาดตั้งแต่ 10-20 เมกะวัตต์ เหมาะสมกับศักยภาพ SOLAR ที่มีกำลังการผลิตแผ่น/แผงโซลาร์เซลล์รวม 70 เมกะวัตต์ต่อปี โดยถ้าบริษัทจีนรายใดเสนอราคาดีกว่า พร้อมจะจับมือกับรายนั้น

 

นางปัทมากล่าวว่า SOLAR กำลังลงทุนขยายกำลังการผลิตแผง และแผ่นโซลาร์เซลล์เป็น 190 เมกะวัตต์ต่อปี ในปี 2558 ซึ่งเป็นการขยายกำลังผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดเช่นเดียวกับที่ผู้ผลิตจากจีนประสบ หลังหลายประเทศออกมาตรการ AD สินค้าจากจีน