ENERGY

เร่งเสนอ คสช. เคลียร์พื้นที่ทับซ้อนเขมร พัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน
POSTED ON 11/06/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดกระแสการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานของประเทศจากหลายกลุ่มไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล คาดว่าในเร็วๆ นี้จะสามารถสรุปได้ทั้งหมด

 

สิ่งที่ต้องการให้ คสช.เร่งเดินหน้าคือการพัฒนาแหล่งสัมปทานบนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกับกัมพูชา ที่มีพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ในรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา แม้ว่ากระทรวงพลังงานได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยเปิดการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานดังกล่าวร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่หลังจากเกิดข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร ทำให้การเจรจาชะงักไป

 

อีกทั้งที่ผ่านมาถูกมองว่าการเจรจาบนพื้นที่ทับซ้อนมีเรื่องของผลประโยชน์แอบแฝง ในขณะที่ในส่วนของกัมพูชาเริ่มมีการเปิดสัมปทานขุดเจาะพลังงานและก๊าชที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ซับซ้อนมากกว่า 30 แปลง ซึ่งยังคงมีปัญหาอยู่ โดยฝ่ายไทยเห็นว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า “เมื่อ คสช.ก้าวขึ้นมา น่าจะใช้โอกาสนี้เปิดเจรจาผ่านที่ประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา (GCB) และคณะกรรมการร่วม JTC ซึ่งเชื่อว่าด้วยเป้าหมายของรัฐบาลเฉพาะกิจ คสช.นั้น จะสามารถเจรจาเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่มีกลุ่มการเมืองแอบแฝง และในที่สุดน่าจะเป็นการเจรจาที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งหากเริ่มเจราจาวันนี้ก็คาดว่าจะใช้เวลาร่วม 10 ปี กว่าจะพัฒนาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนได้ เปรียบเทียบกับการเจรจาบนพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย ที่ใช้เวลาเจรจาร่วมถึง 8 ปี”

 

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ในเร็วๆ นี้ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะต้องเสนอเรื่องเร่งด่วนของกระทรวงต่อ พล.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในเร็วๆ นี้

 

โดยเรื่องเร่งด่วน อาทิ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งที่ยังถูกตรึงไว้, โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนหน่วยที่ 4-7 และสายส่งไฟฟ้าภาคใต้ขนาด 500 เควี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ขออนุมัติการกู้เงินสำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันติดลบกว่า 7.5 พันล้านบาท, การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 รวมถึงปัญหาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทั้งในส่วนของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และโครงการติดตั้งแผงเซลล์บนหลังคาบ้านอาคาร (โซลาร์รูฟท็อป)