ENERGY

เสนอ คสช. ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ
POSTED ON 03/06/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2557 ที่ผ่านมาว่า ได้เข้าพบ "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจกรณีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้ ดังนั้น การปรับโรงสร้างราคาพลังงานหรือการพิจารณาราคาพลังงานจะต้องรอเข้าที่ประชุม กบง. หรือ กพช.ก่อน

 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องเร่งตั้งคณะกรรมการ กบง.และ กพช. เพื่อดำเนินการทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน รวมทั้ง กบง.ยังมีหน้าที่พิจารณาการปรับเงินเข้าหรือออก จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ทันต่อราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นลงทุกวัน และการขอกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในกองทุนน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันมีสถานะติดลบอยู่กว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายจากการตรึงราคาพลังงาน

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตามหลักเกณฑ์แล้ว ประธาน  กบง.ต้องมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยตำแหน่ง แต่ปัจจุบันการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ขาดประธาน และคณะกรรมการ กบง.เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพลังงาน ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการตั้งให้เรียบร้อยโดยเร็ว

 

นอกจากนี้ การพิจารณาเรื่องแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ฉบับใหม่ที่กระทรวงพลังงานได้เคยศึกษาเบื้องต้นไว้แล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะยังขาด กพช.มาพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ ดังนั้น เร่งตั้ง กพช.เพื่อมาดำเนินการกำหนดแผนไฟฟ้าระยะยาวของประเทศต่อไป

 

ขณะที่ทางด้าน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยว่า แผนโรดแมปเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่เตรียมพิจารณาปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเริ่มต้นปฏิรูปพลังงานอย่างยั่งยืน เนื่องจากการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ถึงปีละ 1 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทบต่อเนื่องถึงการเสียโอกาสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อีกทั้งยังไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เชื้อเพลิงบางประเภท อาทิ น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าความเป็นจริง จึงมองว่า หน่วยงานด้านพลังงาน ควรเร่งวางแนวทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาที่บิดเบือนมานานกว่า 5 ปี ให้ชัดเจน และจะต้องดำเนินการในทันที

 

นอกจากนี้ นายปิยสวัสดิ์ยังได้กล่าวถึงการปรับโครงสร้างผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ว่า ก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ ปตท. โดยควรจะแยกบุคคลที่กำหนดแนวนโยบายต่างๆ ออกจากบุคคลที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นให้ชัดเจน