ENERGY

ส.อ.ท. เล็งเสนอเพิ่ม FiT ให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล
POSTED ON 27/05/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กล่าวในงานสัมมนา "เทคโนโลยีการผลิตชีวมวลอัดแท่ง Biomass Pallet จากชีวมวลของไทยเพื่อการส่งออก" จัดโดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจะเพิ่มเป็น 1 ล้านตันในปี 2558 จากปัจจุบันที่ส่งออกประมาณ 500,000 ตัน เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้มีความต้องการใช้ชีวมวลอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงในโรง ไฟฟ้าสูงขึ้น หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลบางส่วน ส่งผลให้มีผู้ค้าชีวมวลอัดแท่งต้องออกมารับซื้อชีวมวลอัดแท่ง

 

จากในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งในประเทศไทย ส่งไปขายในตลาดเกาหลีใต้ในราคาประมาณ 150 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือสูงกว่าราคาขายในประเทศที่ประมาณ 70-90 เหรียญ/ตัน

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ส่งออกชีวมวลอัดแท่งประมาณ 20 ราย ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ในปีนี้จะมีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาในธุรกิจมากขึ้น โดย ส.อ.ท.ประเมินว่า ภาพรวมจะมีการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกอีก 500,000 ตัน/ปี มูลค่าการลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้ตลาดส่งออกในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 4,000 ล้านบาท/ปี โดยตลาดส่งออกหลักอยู่ที่เกาหลีใต้, จีน และญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการรายย่อยยังประสบปัญหาตลาดรับซื้อไม่มั่นคง และเรื่องมาตรฐาน ซึ่ง ส.อ.ท.จะเข้าไปช่วยส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชีวมวลอันแท่งรายใหญ่ได้หันไปลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อผลิต ส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากเห็นว่าวัตถุดิบในประเทศจะไม่เพียงพอ โดยบริษัทที่ออกไปลงทุนแล้ว ได้แก่ กลุ่มชินคอร์ป ลงทุนตั้งโรงงานกำลังการผลิต 500 ตัน/วัน, บริษัท แปลนทอยส์ และ กลุ่มบริษัท จัสมิน ขณะที่กระทรวงพลังงานเองก็มีแผนจะกำหนดให้โรงไฟฟ้าเกิดใหม่

 

ในอนาคต ต้องมีสัดส่วนการใช้ชีวมวลผสมอยู่ประมาณ 5% ของกำลังการผลิต ประเทศไทยจึงต้องตั้งคำถามกันใหม่ว่า ในอนาคตจะไปนำวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลมาจากที่ไหน? ดังนั้น หลังปี 2559 ธุรกิจชีวมวลอัดแท่งอาจจะชะลอตัวลง เพราะวัตถุดิบภายในประเทศจะไม่เพียงพอและรวบรวมได้ลำบาก จนหลายบริษัทมีแผนจะปลูกป่าเอง เช่น ปลูกต้นกระถิน เพื่อนำมาผลิตเป็นวัตถุดิบ ขณะเดียวกันปริมาณการส่งออกชีวมวลอัดแท่งที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบให้ต้นทุน ของโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานไม้แผ่นสูงขึ้นด้วย

 

ส.อ.ท.จึงต้องการให้ภาครัฐจัดทำโรดแมปเชื้อเพลิงชีวมวลในภาพรวมทั้งหมดให้ชัดเจนว่าควรเป็นไปในทิศทางใด เพื่อส่งเสริมตลาดส่งออก ขณะเดียวกันยังทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศอยู่ได้ โดย ส.อ.ท.จะเสนอภาครัฐให้แบ่งชีวมวลเป็น 2 ตลาด คือ (1) ชีวมวลอัดแท่งจากไม้ที่ได้มาตรฐาน ส่งออกไปต่างประเทศ ราคาประมาณ 148-150 เหรียญสหรัฐ/ตัน และ (2) เชื้อเพลิงชีวมวลจากเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ใบอ้อย ซังข้าวโพด สำหรับใช้ในประเทศ รวมถึงเสนอให้เพิ่ม Feed-in Tariff (FiT) สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อให้อยู่รอดด้วย

 

ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.จะเข้าไปหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ให้ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ชีวมวลอัดแท่งจากการส่งเสริมด้านการเกษตร เพราะต้นทุนครึ่งหนึ่งมาจากภาคเกษตร รวมถึงกำลังพูดคุยกับกรมป่าไม้ ถึงข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาในการรวบรวมวัตถุดิบในอนาคต

 

ด้าน นางสาวธิญาดา ควรสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด ผู้ค้าเชื้อเพลิงชีวมวลรายใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนผลิตชีวมวลอัดแท่งเป็นจำนวนมาก ขณะที่บริษัทเองก็กำลังลงทุนสร้างโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่ง กำลังการผลิต 15,000 ตัน/ปี มูลค่า 30-40 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2558 เพื่อส่งออกไปประเทศเกาหลี-ญี่ปุ่น โดยนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาจากบริเวณใกล้โรงงานและบางส่วนนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าในอนาคตมียอดขายเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ก็พร้อมจะลงทุนขยายโรงงานไปยัง สปป.ลาว หรือเมียนมาร์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีอุตสาหกรรมป่าไม้ที่สามารถนำมาทำเป็นวัตถุดิบได้

 

ขณะที่ททางด้าน นายวนัส วิระพรสวรรค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พาราวีเนียร์ 2002 จำกัด ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งและโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวว่า โรงงานของบริษัทมีกำลังการผลิตชีวมวลอัดแท่งอยู่ที่ 200 ตัน/เดือน ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ในราคา 4,500 บาท/ตัน สูงกว่าราคาที่ขายในประเทศประมาณ 2,000 บาท/ตัน และต้องการลงทุนอีก 60 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเป็น 200 ตัน/วัน แต่ติดขัดปัญหาด้านเทคโนโลยี

 

ส่วน นายสุทิน พรชัยสุรีย์ อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย กล่าวว่า พื้นที่ปลูกยางพารา 300,000 ไร่ จะมีวัสดุทางการเกษตรเหลือจำนวน 8.7 ล้านตัน/ปี เดิมนำไปผลิตเป็นไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด แต่ปัจจุบันราคาตกต่ำจาก 800-1,000 บาท/ตัน เหลือ 500-650 บาท/ตัน จึงสนใจนำมาผลิตเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งออกที่มีราคาสูงกว่า แต่ปัญหาคือตลาดยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน ทั้งนี้มีผู้ประกอบการจากประเทศเกาหลีติดต่อขอร่วมทุนผลิตชีวมวลอัดแท่งกับ บริษัทไม้ยางพาราไทยมาแล้ว 2-3 ปีแล้ว โดยให้บริษัทเกาหลีจะลงทุนด้านเทคโนโลยี ส่วนผู้ประกอบการไทยลงทุนด้านวัตถุดิบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน แต่คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้