ENERGY

กฟผ.ปรับแผนย้ายช่วงพีก รับมือ JDA ปิดซ่อม
POSTED ON 20/05/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายชาญชัย บัณฑิตเสาวภาคย์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยถึงวิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.2557 ว่า จากการหารือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กฟภ. ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะกำหนดให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมเฉพาะภาคใต้ร่วมกันลดใช้ไฟฟ้าเพียงช่วงเวลาเดียว คือ เวลา 18.30-21.00 น. ตลอด 28 วัน ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย. ถึง 10 ก.ค.2557 ซึ่งเป็นช่วงปิดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) จากเดิมที่กำหนดให้ช่วยลดใช้ไฟฟ้า 2 ช่วง คือ 13.00-15.00 น. และ 18.30-22.00 น.

 

ทั้งนี้ เนื่องจากได้ศึกษาแล้วพบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของภาคใต้ จะอยู่ช่วงค่ำเป็นหลัก และการลดใช้ไฟฟ้าช่วงดังกล่าว จะมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการช่วยแก้วิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ในครั้งนี้ โดยขณะนี้ได้เร่งลงพื้นที่ภาคใต้ขอความร่วมมือประชาชนลดใช้ไฟฟ้าแล้ว

 

“จากข้อเท็จจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปตรงกันว่าในช่วงที่ปิดซ่อมแหล่งเจดีเอ ปริมาณไฟฟ้าภาคใต้ยังขาด 250 เมกะวัตต์ แม้จะมีการเตรียมสำรองไฟฟ้าจากทุกแหล่งแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงต้องการให้ประชาชนลดใช้ไฟฟ้าให้ได้ 250 เมกะวัตต์ต่อวัน ในช่วงพีก 18.30-21.00 น.ของทุกวัน จนกว่าแหล่งเจดีเอจะกลับมาจ่ายก๊าซได้ตามปกติ พร้อมยังเฝ้าระวังสภาพอากาศหากมีความร้อนเพิ่มขึ้น 1 องศา ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น 100 เมกะวัตต์” นายชาญชัย กล่าว

 

นายชาญชัย กล่าวว่า หากภาคประชาชนและอุตสาหกรรมภาคใต้ไม่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 250 เมกะวัตต์ ต้องขอไฟฟ้าจากภาคกลางเพิ่มเป็น 700 เมกะวัตต์ จากปกติที่ส่งเข้าระบบ 500 เมกะวัตต์ และหากไม่เพียงพอต้องการดับไฟฟ้าในจุดที่กำหนดไว้ 19 จุด โดยเวียนดับจุดละ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะลดใช้ไฟฟ้าลงได้จุดละ 50 เมกะวัตต์ และจุดแรกที่กำหนดไว้เป็นพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งไม่กระทบต่อโรงงานหรือสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล โรงพัก แต่อย่างใด รวมทั้งจะไม่ดับไฟใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เด็ดขาด เพื่อป้องกันการก่อการร้าย

 

ส่วนกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลงพื้นที่หารือกับผู้ประกอบการ 14 จังหวัดภาคใต้ และสรุปว่าภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย 250 เมกะวัตต์นั้น เป็นเรื่องที่ กรอ.ลงไปตรวจสอบเอง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลวิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ในครั้งนี้ โดยยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฟภ. กฟผ. บมจ. ปตท. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังคงประสานข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง และกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน

 

โดย ส.อ.ท.ยังมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมยังสามารถช่วยลดใช้ไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย แต่หากไม่สามารถลดได้จริง ทาง กฟภ.ยังหวังการลดใช้ไฟฟ้าจากชาวบ้านภาคใต้ ซึ่งเป็นลูกค้าของ กฟภ. กว่า 2.7 ล้านราย ซึ่งหากทุกบ้านลดการใช้ไฟฟ้า 1 ดวงต่อครัวเรือน จะสามารถประหยัดไฟฟ้าลงได้กว่า 100 เมกะวัตต์แล้ว