ENERGY

พลังงานตรวจหนักโรงบรรจุก๊าซและปั๊ม LPG ลักลอบขายผิดประเภท
POSTED ON 25/04/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2557 ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 14.26 น. ประเทศไทยเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ขึ้น 26,942.1 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติสูงสุดของปี 2556 ที่พีกอยู่ระดับ 26,598.1 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2556 และสูงกว่าที่ กฟผ.คาดการณ์ไว้ที่ 26,752 เมกะวัตต์ สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว อุณหภูมิสูงถึง 37.5 องศาเซลเซียส

 

ดังนั้น กฟผ.จึงขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้า บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องปรับอากาศให้ปรับอุณหภูมิแอร์ที่ 26 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า แต่ไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส จะช่วยประหยัดไฟฟ้าลงได้ถึง 10% ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศและลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ส่วนหนึ่ง

 

นายสมนึก บำรุงสาลี อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงปัญหาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ว่า กรมฯ เริ่มเห็นสัญญาณผิดปกติของตัวเลขการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งในเดือน มี.ค.2557 ซึ่งเป็นเดือนที่ราคาขายแอลพีจีภาคขนส่งเริ่มมีราคาที่ต่ำกว่าแอลพีจีภาคครัวเรือน โดยการใช้แอลพีจีภาคขนส่งเดือน มี.ค.2557 มีปริมาณ 5.26 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เทียบกับเดือน ก.พ.2557 ที่มีปริมาณ 5.11 ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 2.93% ในขณะที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 จะมีอัตราที่เพิ่มขึ้น 4.89% ในขณะที่ตัวเลขภาคครัวเรือนปรับลดลงจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูอย่างเข้มงวดขึ้นว่ามีการลักลอบจำหน่ายแอลพีจีข้ามประเภท เพื่อกินกำไรส่วนต่างเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้หรือไม่

 

"อยากจะส่งสัญญาณไปยังโรงบรรจุก๊าซหรือปั๊มแอลพีจีว่าไม่ควรที่จะคิดลักลอบขายที่เป็นการผิดกฎหมาย เพราะกรมฯ มีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งการลักลอบก่อนหน้านี้ก็มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วกว่า 86 ราย" นายสมนึก กล่าว

 

สำหรับสถานการณ์การใช้แอลพีจีภาพรวม ในเดือน มี.ค.2557 อยู่ที่ 19.58 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 0.53% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของภาคปิโตรเคมี 9.65% หรือปริมาณ 6.78 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ภาคขนส่งเติบโต 2.93% อยู่ที่ 5.26 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ส่วนภาคครัวเรือนลดลง 9.71% อยู่ที่ 5.92 ล้านกิโลกรัม และภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.43% อยู่ 1.62 ล้านกิโลกรัม

 

ส่วนตัวเลขการนำเข้าในเดือน มี.ค.2557 อยู่ที่ 134.21 ล้านกิโลกรัมลดลงจากเดือน ก.พ. 23.14% เนื่องจากยังคงมีสต็อกเหลืออยู่ในระดับสูงจึงไม่จำเป็นต้องนำเข้ามากนัก อย่างไรก็ตาม รัฐต้องจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าในเดือนมีนาคม 2557 ประมาณ 2,532 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์การใช้น้ำมันดีเซล ในเดือน มี.ค.2557 มียอดการใช้อยู่ที่ 59.28 ล้านลิตร ลดลงจากเดือน ก.พ. 2.21% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 จะลดลง 3.59% ซึ่งเหตุผลสำคัญน่าจะมาจากปัญหาการเมืองที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการที่ผู้ประกอบการหันไปใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี)

 

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง.เห็นชอบปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลลง 0.30 บาทต่อลิตร จากเดิมจัดเก็บ 0.40 บาทต่อลิตร ทำให้เหลือการจัดเก็บเพียง 0.10 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด