ENERGY

แผน PDP ใหม่ เพิ่มไฟฟ้าสำรอง 20% กำลังผลิต 49,500 เมกะวัตต์
POSTED ON 17/04/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ฉบับใหม่ 2557-2573 ยังคงอยู่ระหว่างการประเมินค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ชัดเจนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการคาดการณ์ในเบื้องต้นพบว่าจะมีความต้องการใช้ลดลงจากแผนเดิมประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และมาตรการประหยัดไฟที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ได้ผล

 

สำหรับการจัดทำแผน PDP ครั้งนี้อยู่ภายใต้นโยบายหลักที่เน้นให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ (1) เน้นความมั่นคง คือจะพิจารณากำลังผลิตไฟฟ้าและความต้องการไฟฟ้าในแต่ละรายภาค รวมถึงพิจารณาการพัฒนาโครงข่ายหลักของประเทศ และเพิ่มความมั่นคงในจุดหรือพื้นที่สำคัญเป็นพิเศษ (2) เน้นสิ่งแวดล้อม จะพิจารณาสัดส่วนเชื้อเพลิงให้สมดุลมากขึ้น และมีการกระจายเชื้อเพลิงให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงพิจารณาค่าเฉลี่ยการปล่อย Emission ไม่ให้สูงเกินไป และ (3) เน้นอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยต้องเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ผู้ใช้ไฟฟ้า

 

ด้านแนวโน้มของแผน PDP ใหม่นั้น จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบตลอดทั้งแผนที่ประมาณ 49,500 เมกะวัตต์ ในขณะที่แผน PDP เดิม (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ปี 2555-2573) จะต้องมีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบที่ 55,130 เมกะวัตต์ แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ปลดออกจากระบบนั้นยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับแผนเดิม คือ 16,298 เมกะวัตต์

 

ส่วนทางเลือกของโรงไฟฟ้าใหม่นั้น สนพ.ยังให้น้ำหนักไปที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และยังคงมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกระบุไว้ใน PDP ฉบับใหม่ด้วย

 

นายสุนชัย คำนูญเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่จะถูกระบุไว้ในแผนดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ได้อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกร้อยละ 25 ใน 10 ปี (2555-2564) ฉบับใหม่ที่มีการปรับเป้าหมายกำลังผลิตเพิ่มเติม จากเดิมที่จะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 13,927 เมกะวัตต์ (จากเดิมที่ 9,201 เมกะวัตต์)

 

ส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ กฟผ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างรวม 4,000 เมกะวัตต์นั้น จนถึงขณะนี้กระทรวงพลังงานยังไม่ได้พิจารณาให้เอกชนเป็นผู้พัฒนาแทน เพราะว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาโครงการแรก คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ได้ เนื่องจากยังคงอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้านการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นใน สปป.ลาว ยังคงมีข้อตกลงร่วม (MOU) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำรวม 7,000 เมกะวัตต์ แต่ล่าสุดผลิตได้เพียง 5,400 เมกะวัตต์เท่านั้น และศักยภาพใน สปป.ลาวยังสามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพิ่มเติมได้อีกมาก

 

ด้านสหภาพเมียนมาร์ก็มีข้อตกลงร่วมเช่นกันที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและขายไฟฟ้าให้กับไทย เช่น โครงการสาละวิน ซึ่งหากพัฒนาโครงการนี้ได้จะยิ่งเพิ่มความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับไทยได้มากขึ้น

 

"แผน PDP รอบนี้จะต้องพิจารณาทั้งเรื่องความมั่นคงและราคา รวมถึงต้องพิจารณาความพร้อมของระบบสายส่งที่จะมารองรับกำลังผลิตใหม่ด้วย เฉพาะโรงไฟฟ้าในส่วนที่ กฟผ.รับผิดชอบจะมีการมอนิเตอร์และพิจารณาความเหมาะสมด้านราคาเชื้อเพลิงก่อนที่จะสั่งการให้โรงไฟฟ้าแต่ละโรงเดินเครื่องด้วย" ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าว

 

ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังถูกระบุให้เป็นทางเลือกของโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะอยู่ในแผน PDP ใหม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กฟผ. สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ยังอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ (1) สถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (2) การพัฒนาของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และ (3) การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

 

โดยเฉพาะในประเด็นกฎหมาย ที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยจะต้องมีความพร้อมด้านกฎหมายที่จะกำกับดูแลการใช้นิวเคลียร์ รวมถึงนโยบายของภาครัฐต้องชัดเจนว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แน่นอน

 

นายสุนชัยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ขณะนี้ กฟผ.ยังคงศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นพื้นที่เกาะ ติดทะเล และต้องเป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างดินแข็งและมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะเมื่อ กฟผ.ลงพื้นที่เป้าหมายเพื่อศึกษาทางธรณีวิทยาก็จะถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน

 

การจัดทำแผน PDP ที่ผ่านมาจะกำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ทั้งระบบไว้ที่ร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีความเสี่ยงประเด็นการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่สูงถึงร้อยละ 70 และเมื่อเจอเหตุการณ์แหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาร์หยุดซ่อมบำรุง จะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันตก และส่งผลกระทบให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ฉะนั้น ในแผน PDP ใหม่จึงมีการปรับเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศเพิ่มเป็นร้อยละ 20 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบมากขึ้น

 

ทั้งนี้ สนพ.จะประเมินว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะมาจากเชื้อเพลิงประเภทใด เพื่อให้ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า เพราะการสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะถูกคำนวณรวมในค่าไฟฟ้าของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย

 

หลังจากที่ สนพ.ประเมินค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าแล้วเสร็จ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และสรุปแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ฉบับ 2557-2573 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนทางการเมือง รวมถึงหากมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหาร ยังต้องรอความเห็นจากรัฐบาลใหม่ด้วยว่าจะเห็นด้วยกับแผนดังกล่าวหรือจะต้องปรับแผนใหม่อีกครั้ง