ENERGY

ภัยแล้งดันน้ำมันปาล์มดิบราคาพุ่ง หวั่น ครม.รักษาการ อนุมัตินำเข้า CPO ไม่ได้
POSTED ON 19/03/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2557 ซึ่งมี "นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน มีมติให้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้องค์การคลังสินค้า (อสค.) นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากต่างประเทศปริมาณ 20,000 ตัน เพื่อจัดสรรให้ผู้ประกอบการ โรงกลั่นในประเทศใช้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจำหน่ายในราคาแนะนำขวดละ 42 บาทต่อไปได้โดยไม่ต้องปรับขึ้นราคา หลังจากสต็อกสำรองเพื่อความปลอดภัย มีปริมาณเหลือเพียง 1.3 แสนตัน จากก่อนหน้านี้มี 2 แสนตัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 33-34 บาท

 

นายอนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไอ เอนเนอร์จี จำกัด (มหาชน) (AIE) ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มบริโภคแบรนด์พาโมลา เปิดเผยว่า การนำเข้าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาราคาที่สูงขึ้นได้ หากนำเข้าจากมาเลเซียที่ 26 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อรวมค่าขนส่งและค่าการกลั่นจะอยู่ที่ 31 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อนำไปผลิตน้ำมันปาล์มขวดต้องขายราคา 46 บาทต่อลิตร สูงกว่าราคาควบคุม ไม่แน่ใจว่าภาครัฐจะอุดหนุนส่วนต่างราคาให้โรงกลั่นหรือไม่

 

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีรักษาการ อาจไม่สามารถอนุมัติการนำเข้า CPO ได้ และอากาศแล้งจัดผลผลิตปาล์มในประเทศมีโอกาสขาดแคลน และน้ำมันที่สกัดได้จากผลปาล์มสดลดลงจาก 17% เหลือ 14-15% จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปถึงเดือนเมษายนที่จะมีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดอย่างเต็มที่"

 

AIE ไม่ใช่สมาชิกสมาคมโรงกลั่นฯ ไม่ได้รับการจัดสรร CPO ได้หยุดผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด1 ลิตร เนื่องจากต้นทุนสูง แต่ไม่กระทบ เพราะสัดส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพียง 10% ส่วนอีก 90% จำหน่ายให้กับลูกค้าหลักกลุ่มอุตสาหกรรม และร้านอาหาร แต่ถ้าราคา CPO ลดลงอาจกลับผลิตน้ำมันปาล์มขวดอีกครั้ง

 

ด้าน นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่า หากมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ อาจจะกระทบต่อเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการ แต่รัฐบาลต้องพิจารณาอนุมัติให้นำเข้า เพราะปริมาณผลผลิตลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยมีผลผลิตปาล์มสด 1 ล้านตัน เหลือเพียง 7 แสนตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบเหลือ 1.2 แสนตัน จากที่เคยมีถึง 1.5-1.7 แสนตัน เพราะเกิดปัญหาโลกร้อน ภัยแล้ง ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะไทย แต่อินโดนีเซีย มาเลเซียได้รับผลกระทบ

 

"หากนำเข้าต้องอุดหนุนและชดเชยราคาผลผลิตให้เกษตรกร แต่รัฐบาลรักษาการจะใช้งบประมาณต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องจะล่าช้า การแก้ปัญหาตรงจุด รัฐบาลควรปล่อยให้ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาด หากจะคุมราคาควรอยู่ระดับ 42-47 บาท เพื่อให้ปรับขึ้นลง ตอนนี้เราคุมราคาน้ำมันขวดที่ 42 บาท คิดกลับเป็นราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 29 บาทต่อ กก.และราคาผลปาล์มอยู่ที่ 4-4.80 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่รัฐบาลประกันไว้ แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยอยู่ที่ 32.68 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่มาเลเซีย 27.50 บาท ต่างกันมากจากปกติต่างกันแค่กิโลกรัมละ 3 บาท จึงยากที่จะขายในราคาควบคุมได้" นางวิวรรณ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ราคาน้ำมันปาล์มดิบจะปรับสูงขึ้น แต่ราคาผลปาล์มกลับลดลง โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.50-5.70 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 จาก 6 บาทต่อกิโลกรัม ไม่เป็นไปตามกลไก หากกำหนดราคาควบคุมน้ำมันปาล์มขวด 42 บาทต่อขวด เกษตรกรยังถูกกดราคา โรงกลั่นรับซื้อราคาสูงไม่ได้ เพราะเป็นต้นทุนในการผลิต