ECONOMICS

เครดิตบูโร ย้ำ เอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการของ สสว. ไม่ถือเป็น NPL
POSTED ON 25/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ประสานงานกับ 5 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย  (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อพักหนี้ และยืดเวลาชำระหนี้ออกไป พร้อมทั้งให้กู้เพิ่มดอกเบี้ยพิเศษ โดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมจะไม่ถือเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะธนาคารจะจัดส่งสถานะลูกค้าเป็นปกติแก่เครดิตบูโร เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจากปัญหาการชุมนุม

 

ทั้งนี้ เครดิตบูโรยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการของ สสว. โดยจะขอให้ทั้ง 5 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ให้ระมัดระวังในการรายงานและนำส่งข้อมูลของลูกหนี้เข้ามายังเครดิตบรูโร โดยให้รายงานเป็น “บัญชีปกติ” หรือ “พักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ” เพื่อช่วยไม่ให้เกิดความเสียหายในประวัติของนิติบุคคลและเอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะเป็นการช่วยเยียวยาทางด้านการรักษาความน่าเชื่อถือและช่วยในด้านจิตใจแก่เอสเอ็มอีอีกทางหนึ่งด้วย

 

"เครดิตบูโรขอให้เอสเอ็มอีโปรดสบายใจว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 ทั้งนี้เพื่อคลายความกังวลของผู้ประสบภัยในเรื่องการผ่อนผันผ่อนปรนการชำระหนี้และดูแลประวัติการชำระสินเชื่อมิให้เกิดผลเสียหาย" นายสุรพล กล่าว

 

ด้าน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาสล่าสุด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะปัจจุบันอยู่ที่ 41.1 ทรงตัวจากระดับ 40.9 ช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ขณะนี้อยู่ในภาวะที่ไม่สดใสนัก เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50 ซึ่งถือเป็นระดับปกติ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทรงตัวระดับ 40-41 มาตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอีใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.2 จาก 58.4 ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อนปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากธุรกิจมองว่ารายได้กิจการอาจไม่กระเตื้องขึ้นจากระดับปัจจุบัน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนและการจ้างงานในระยะต่อไปด้วย

 

ส่วนผลการสำรวจปัจจัยความกังวลที่มีผลต่อธุรกิจขนาดย่อมในเดือนมกราคม 2557 พบว่าผู้ประกอบการยกให้การเมืองเป็นปัจจัยที่น่ากังวลที่สุด 42.4% เพิ่มขึ้นจาก 21.3% ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ทิ้งห่างความกังวลเศรษฐกิจในประเทศที่ตามมาห่างๆ เป็นอันดับ 2 ที่ 27.4% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เอสเอ็มอีกังวลเรื่องการเมืองมากกว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศนับตั้งแต่เราสำรวจความเห็นมา 7 ไตรมาสติดต่อกัน

 

“การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซ้ำเติมกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความวุ่นวายทางการเมือง กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ อยู่ที่ระดับ 38.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ส่วนภาคที่ยังมีระดับความเชื่อมั่นดีที่สุด คือภาคตะวันออก ที่ระดับ 48.5 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากท่องเที่ยวและการส่งออกที่ฟื้นตัว ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยังมีทิศทางที่ดี และไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเมือง” นายเบญจรงค์ กล่าว