ECONOMICS

ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำขอส่งเสริมการลงทุนสุญญากาศ 5 แสนล้าน
POSTED ON 11/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ปิดกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2557 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามายื่นเรื่องขออนุญาตต่างๆ ได้ประมาณ 30% ของปริมาณการขออนุญาตปกติ ส่งผลให้ยอดการตั้งโรงงานเดือน ม.ค.2557 ลดลง และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือน ธ.ค.2556 แสดงให้เห็นว่าผลกระทบทางการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจตั้งโรงงานใหม่ โดยมีการขอตั้งโรงงาน 254 แห่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 331 แห่ง หรือ ลดลง 23.26% ในทุกกิจการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งเป็นกิจการที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)  ลงทุนมากที่สุด

 

ทั้งนี้ การจ้างงานอยู่ที่ 5,905 คน ลดลงจาก 6,334 คน หรือลดลง 6.77% โดยมีมูลค่า 8,547 ล้านบาท ลดลงจาก 12,009 ล้านบาท หรือลดลง 28.82% ยอดขยายกิจการจากการลงทุนที่มีอยู่เดิมอยู่ 30 แห่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2556 จำนวน 46 แห่ง หรือลดลง 34.78% จ้างงานเพียง 1,877 คน ลดลงจาก 11,185 คน หรือลดลง 82.22%

 

โดยหลังจากเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ กรมโรงงานฯ จะเร่งดำเนินงานอนุมัติใบอนุญาตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การลงทุนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ กรมฯ กำลังติดตามผลกระทบ โดยเฉพาะกิจการเอสเอ็มอี ซึ่งเปิดช่องทางรับข้อมูลปัญหาของผู้ประกอบการเพื่อพิจารณาช่วยเหลือ แต่เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กปปส.มากนัก เพราะไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต แต่อาจมีผลกระทบต่อการขายสินค้า จนกระทบต่อภาคการผลิต

 

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การประกาศยุบสภา ทำให้กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชะงักลง เพราะต้องเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ารัฐบาลรักษาการสามารถตั้งบอร์ดชุดใหม่ และสามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน 370 โครงการที่รอขออนุมัติจากบอร์ดบีโอไอ มูลค่าโครงการเกือบ 5 แสนล้านบาท

 

ส่วนผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองนั้น หากยืดเยื้อไป 3-4 เดือน ประเทศคู่แข่งการลงทุนอาจฉวยโอกาสเข้ามาดึงดูดนักลงทุนที่วางแผนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ ภายใน มี.ค.2557 นี้ บีโอไอจะนำข้อมูลทุกด้านมาประเมินอีกครั้งว่านักลงทุนได้รับผลกระทบด้านใดบ้าง และจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการให้ความช่วยเหลืออย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าปี 2557 นี้ จะมีผู้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามเป้าหมาย 9 แสนล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2556 โดยเฉพาะเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุวุ่นวายทางการเมือง แต่จำนวนผู้ประกอบการที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ยอดการขอรับการส่งเสริมฯ ทั้งปีทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศไม่กังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองปี 2557 นี้ แม้จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงต้นปี 2557 เชื่อว่านักลงทุนยังไม่กังวลมากนัก เพราะหากไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ถือเป็นเรื่องปกติของประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเดินขบวนเรียกร้อง