ECONOMICS

กพร.เก็บค่าภาคหลวงเหมืองแร่ได้น้อยลง เหตุแหล่งแร่ไม่สมบูรณ์
POSTED ON 10/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ในปี 2556 กพร.สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงเหมืองแร่ได้ 2,720 ล้านบาท ลดลงจากปี 2555 ที่เก็บได้ 3,217 ล้านบาท และปี 2554 ที่เก็บได้ 2,744 ล้านบาท โดยสาเหตุเกิดจากการเก็บค่าภาคหลวง รายได้จากเหมืองทองคำลดลงจากปี 2555 ที่เก็บได้ 801 ล้านบาท แต่ในปี 2556 ลดลงเหลือ 468 ล้านบาท เพราะความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งแร่ทองคำลดลง

 

ส่วนการเก็บค่าผลประโยชน์ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ใกล้เคียงกับทุกปีที่ผ่านมาส่วนในปี 2557 หากโครงการลงทุนภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมาย มีการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะเก็บค่าภาคหลวงได้เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ผ่านมาประมาณ 50% เนื่องจากจะมีการใช้หินอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก

 

รวมทั้งกรมฯ ยังได้ปรับเพิ่มผลตอบแทนให้กับภาครัฐในเหมืองแร่ทองคำ โปแตส และอื่นๆ ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 20% เพิ่มขึ้นเป็น 40-60%โดยในปัจจุบันค่าภาคหลวงส่วนใหญ่จะมาจากเหมืองหินอุตสาหกรรมเหมืองปูนซิเมนต์ 20-30% รองลงมาเป็นทองคำประมาณ 20% แต่ทั้งนี้หากไม่สามารถลงทุนโครงการภาครัฐได้ มูลค่าเงินค่าภาคหลวงก็จะได้ใกล้เคียงกับปี 2556 นี้

 

นอกจากนี้ จะเดินหน้าพัฒนาแหล่งแร่เศรษฐกิจ โดยจะเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตส ซึ่งในปัจจุบันนี้มีเหมืองแร่โปแตส 3 แห่ง ได้แก่ (1) บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) (APMC) อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีสายแร่ 570 ล้านตัน สกัดเป็นแร่โปแตสได้ 15% ส่วน (2) บริษัท เอเซียแปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) จ.อุดรธานี มีสายแร่โปแตส 118 ล้านตัน สกัดเป็นแร่โปแตสประมาณ 37% และ (3) บริษัท ไทยคาลิ จำกัด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา