ECONOMICS

ฟิทช์ เรทติ้งส์ จ่อหั่นเครดิตความน่าเชื่อถือไทย เหตุจากการเมืองยืดเยื้อ
POSTED ON 10/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - รายงานข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)  เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์ประเทศไทย หากการเผชิญหน้าทางการเมืองยังคงยืดเยื้อและตึงเครียดมากขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลง และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดลง รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและยืดเยื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้จะกระทบต่อระบบธนาคารผ่านการด้อยค่าของคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งมาจากสัดส่วนหนี้ของภาคเอกชนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

โดยปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่หากความตึงเครียดทางการเมืองคลี่คลายลง เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2557 จะกลับมาดีขึ้นอยู่ที่ 3.5%

 

ทั้งนี้ การเลือกตั้งของประเทศไทยที่ยังไม่เสร็จสิ้น ไม่ช่วยบรรเทาความตึงเครียดทางการเมืองของประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยการแบ่งฝ่ายทางการเมืองที่ยืดเยื้อและตึงเครียดมาถึง 5 เดือน มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน เห็นได้จากผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไตรมาส 4 ปี 2556 ที่หดตัวลง 7% อัตราการเติบโตของการค้าปลีก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดต่ำลง ส่งผลให้การประมาณการจีดีพีปี 2557 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับลดลงไปถึง 2% มาอยู่ที่ 3%

 

แม้ช่วงที่ผ่านมาระบบธนาคารของไทยได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งในการรองรับความเสี่ยงโดยมีสัดส่วนเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นเป็น 12.4% จาก 11.3% ของความเสี่ยงถ่วงน้ำหนักของสินทรัพย์ แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าการคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง อาจจะค่อยๆ กัดกร่อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้

 

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 โดยข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา พบว่า วิกฤติการเมืองไม่เคยทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า

 

ถ้าการเมืองไม่นิ่ง จะทำให้ไม่มีการลงทุน และส่งผลให้จีดีพีปีนี้อยู่ที่ 3.1% หากไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลจะอยู่ที่ 2.8-2.9% หากเกิดเหตุรุนแรงทางการเมือง เศรษฐกิจอาจปรับลดลงอีกได้