ECONOMICS

การเมืองทำความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งเหว หากดึงยาว เชื่อ ทำเงินหายกว่า 2 แสนล้านบาท
POSTED ON 07/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ม.ค.2557 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า จากปัญหาทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.อยู่ที่ 71.5 ลดจาก 73.4 เดือน ธ.ค.2556 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่ ธ.ค.2554

 

ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.4 ปรับลดลงจาก 63.2 เดือน ธ.ค.2556 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่ ธ.ค.2554 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 65.1 ลดจาก 66.7 เดือน ธ.ค.2556 ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 10 และต่ำสุดในรอบ 25 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.1 ลดจาก 91.8 เดือน ธ.ค.2556 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 55 เดือนนับตั้งแต่ ก.ค.2552

 

ปัจจัยลบในเดือน ม.ค.2557 มีมากขึ้นจากปัญหาการเมือง เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง มีการปิดสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเวลา 60 วัน เกษตรกรไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว และมีการชุมนุมประท้วง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2556 เหลือต่ำกว่า 3% และปี 2557 ลดเหลือ 3% จากเดิม 4% การส่งออกเดือน ธ.ค.2556 แม้จะเพิ่มขึ้น 1.9% แต่ทั้งปีติดลบ 0.3% ไทยขาดดุลการค้า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น

 

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า ปัจจัยลบยังกระทบต่อการชะลอการซื้อรถยนต์ ซื้อบ้านหลังใหม่ การท่องเที่ยว และการลงทุนลดลง และทำให้ดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตต่ำสุดในรอบ 93 เดือน ดัชนีภาวะค่าครองชีพ ต่ำในรอบ 43 เดือน ดัชนีความเห็นต่อปัญหายาเสพติด ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน และดัชนีความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองต่ำสุดในรอบ 44 เดือน หรือดัชนีมาอยู่ที่ 43 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

 

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ผลสำรวจจากการชุมนุมต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่าง 707 ราย ระหว่างวันที่ 27 ม.ค. ถึง 3 ก.พ.2557 ธุรกิจ 60% ระบุได้รับผลกระทบระดับปานกลางถึงมากสุด อีก 20% ระบุกระทบน้อย และ 20% ระบุไม่กระทบเลย โดยที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ ยอดขายลดลง กำไรลดลง ต้นทุนสูง สภาพคล่องทางธุรกิจแย่ลง และยอดสั่งซื้อลดลง

 

“หากปัญหาการเมืองยังไม่คลี่คลายภายในไตรมาส 2 ปีนี้  มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 2% จากเดิมคาดการณ์โต 3.4% ซึ่งทำให้เงินหายไปจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5-2 แสนล้านบาท เพราะการเมืองไม่นิ่ง การตั้งรัฐบาลช้า กระทบต่อแผนลงทุนตามนโยบายล่าช้า ฉะนั้น ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจครึ่งปีแรก องค์กรส่วนท้องถิ่นควรเร่งลงทุนและเบิกตามงบประมาณซึ่งจะมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท จะมีผลช่วยพยุงเศรษฐกิจโต 3-4% ได้“ นายธนวรรธน์ กล่าว